หวั่นโควิด "เดลต้า" กลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐ ที่แพร่กระจายไวสุด แถมเสี่ยงดื้อวัคซีน 

09 มิ.ย. 2564 | 15:33 น.
3.4 k

"นพ.ฟอซี" แพทย์ใหญ่ที่ปรึกษาทำเนียบขาว เตือนโควิดสายพันธุ์ “เดลต้า” ที่เดิมรู้จักกันในนามสายพันธุ์อินเดียหรือ B.1.617.2 อาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในสหรัฐ และสร้างความหนักใจเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ไวที่สุด ทั้งยังไม่มีผลศึกษาแน่ชัดว่า ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นด้วยหรือไม่

นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาวกล่าวเตือนในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาววานนี้ (8 มิ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ) ว่า ไวรัสโควิด-19 ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งเดิมรู้จักกันในนาม ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.617.2 หรือปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า (Delta) อาจจะกลายมาเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในสหรัฐได้ในอนาคตอันใกล้

ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อในสหรัฐราว 6% จากทั้งหมด โดยเขาแสดงความวิตกว่า สัดส่วนดังกล่าวอาจจะเพิ่มสูงขึ้นอีก และได้เรียกร้องให้ชาวอเมริกันรีบเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างปราการ(ภูมิต้านทาน) สกัดกั้นก่อนที่ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “เดลต้า” จะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกา

นพ.แอนโทนี ฟอซี

ปัจจุบัน ไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว กลายมาเป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์หลัก(ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในหมู่ประชากร) ในประเทศอังกฤษ “ไวรัสสายพันธุ์นี้ (เดลต้า) ได้เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ B.1.1.7 (เดิมเรียกว่าสายพันธุ์อังกฤษ หรือปัจจุบัน WHO ให้ชื่อว่า “อัลฟา”)ซึ่งเราไม่สามารถจะให้เรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา” นพ.ฟอซี กล่าว พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษขณะนี้ ราว 60% ของทั้งหมด เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนดังกล่าวคือสูงกว่า 6% เล็กน้อย แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จริงๆ แล้วสัดส่วนการติดเชื้อไวรัสโควิดเดลต้าฯในสหรัฐ อาจจะสูงกว่านั้น   

ซึ่งสิ่งที่น่าหนักใจก็คือ กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียระบุว่า ไวรัสดังกล่าวเป็นไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ถึงสองครั้ง และมันเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหรือติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลศึกษาบ่งชี้ว่า มันทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้นด้วยหรือไม่

หวั่นโควิด \"เดลต้า\" กลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐ ที่แพร่กระจายไวสุด แถมเสี่ยงดื้อวัคซีน 

ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้สหรัฐยิ่งต้องเร่งมือฉีดวัคซีนให้ประชาชนจำนวนมากขึ้นและเร็วขึ้น ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแผนฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้แก่ประชาชนจำนวนอย่างน้อย 70% ของประชากรทั้งประเทศก่อนวันชาติจะมาถึง (วันชาติสหรัฐ หรือ Independence Day ตรงกับวันที่ 4 ก.ค.) แต่สถิติของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐ หรือ ซีดีซี ชี้ว่า เหลือเวลาอีกไม่ถึง 4 สัปดาห์แล้ว และสหรัฐก็เพิ่งฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแรกให้แก่ประชาชนคิดเป็นสัดส่วนราว 63.7% ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้นจึงยังต้องเพิ่มความพยายามอีกมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ปัจจุบัน ประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบโดสแล้วมีจำนวนราว 53%

ส่วนไวรัสโควิด “เดลต้า” นั้น นับตั้งแต่ที่มีการค้นพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือน ต.ค.ปี 2563 ก็ได้แพร่ระบาดลุกลามออกไปใน 62 ประเทศเป็นอย่างน้อย (ข้อมูลจาก WHO)   

 ผลการศึกษาของสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ (NIH) พบว่า วัคซีนต้านโควิดของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อฉีดครบโดสแล้ว (2 เข็ม) มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะต้านทานไวรัสโควิด-19 โดยวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิในการต้านทานไวรัสเดลต้า 88% ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสเดลต้าประมาณ 60%

นพ.ฟอซีระบุว่า การฉีดวัคซีนให้ครบโดสเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ 3 สัปดาห์หลังจากที่ฉีดวัคซีนแล้ว 1 เข็ม ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิดเดลต้านั้นอยู่ที่ระดับเพียง 33% ซึ่งถือว่าน้อยมาก

ข้อมูลอ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง