ทนายเผย "อองซาน ซูจี" โดนอีก 1 ข้อหาใหม่ รวมเป็น 5 ข้อหาแล้วในขณะนี้  

02 เม.ย. 2564 | 06:14 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2564 | 13:26 น.
722

นางอองซาน ซูจี ที่ยังคงถูกควบคุมตัวโดยกองทัพเมียนมา ได้รับแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 1 ข้อหาวานนี้ (1 เม.ย.) ฐานละเมิดกฎหมายความลับราชการ

ทนายความของ นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาและหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่ยังคงถูกควบคุมตัว เปิดเผยว่า นางออง ซาน ซูจี ถูกตั้งข้อหาใหม่เพิ่ม อีก 1 ข้อหาเมื่อวานนี้ (1 เม.ย.) กลายเป็นข้อหาที่ 5 แล้วนับตั้งแต่ที่ กองทัพเมียนมา เข้า ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ของนางซูจีเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายมิน มิน โซ ทนายความของนางซูจี เปิดเผยว่า ข้อหาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องนายฌอน เทอร์เนลล์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลียซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับนางออง ซาน ซูจี โดยนายฌอนถูกคุมตัวฐานละเมิดกฎหมายความลับราชการ

สำหรับ 4 ข้อกล่าวหาที่นางออง ซาน ซูจี ถูกตั้งข้อหาไว้ก่อนหน้านี้ ได้แก่

  • ลักลอบนำเข้าเครื่องรับส่งวิทยุมือถือ
  • ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • เผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้สังคมไม่สบายใจ
  • รับเงินผิดกฎหมายจำนวน 600,000 ดอลลาร์ พร้อมกับทองคำจำนวนหนึ่งในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ทนายเผยว่า นางซูจี ไม่ได้ถูกตั้งข้อหากบฏซึ่งอาจมีโทษถึงประหารชีวิตตามที่มีข่าวลือก่อนหน้านี้

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ศาลจะพิจารณาข้อหาเหล่านี้อีกครั้งในวันที่ 12 เม.ย.

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เมียนมาก็ตกอยู่ท่ามกลางความยุ่งเหยิง มีการชุมนุมประท้วงรายวัน และการปราบปรามสลายการชุมนุมก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนถึงขณะนี้มีพลเรือนเสียชีวิตแล้วกว่า 520 คน

ขณะที่บรรดาชาติตะวันตกได้ออกมาประณามรัฐบาลทหารเมียนมาที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่จีนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน คู่ค้า และผู้ลงทุนรายสำคัญของจีน ยังคงแสดงท่าทีอย่างระมัดระวัง นายจาง จวีน เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำยูเอ็นของจีนกล่าวในที่ประชุมลับของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อเร็ว ๆนี้ ระบุว่า การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา คือผลประโยชน์ร่วมของประชาคมนานาชาติ หากเมียนมาดำดิ่งสู่ความยุ่งเหยิงยืดเยื้อ ก็จะเป็นหายนะสำหรับเมียนมาเองและทั้งภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม จีนเห็นว่า แรงกดดันฝ่ายเดียวและเสียงเรียกร้องให้คว่ำบาตร หรือใช้มาตรการบีบบังคับอื่นๆ รังแต่จะซ้ำเติมความตึงเครียดและการเผชิญหน้าในเมียนมา ขณะเดียวกัน ยังจะก่อความซับซ้อนแก่สถานการณ์เพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่สร้างสรรค์ในสายตาของจีน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1 เมษายนนี้ “อองซาน ซูจี” ขึ้นศาลชี้ชะตาคดีอาญา

ความหวังริบหรี่ พยานคดี “ซูจี”รับสินบนโผล่รายการทีวี แฉจ่ายใต้โต๊ะ 16 ล้าน

กองทัพเมียนมากล่าวหา "นางอองซาน ซูจี" รับสินบนและทองคำระหว่างดำรงตำแหน่งในรัฐบาล

“อองซาน ซูจี” ปรากฏตัวครั้งแรกหลังถูกยึดอำนาจ

ไม่ต้องลุ้นปล่อยตัวแล้ว “อองซาน ซูจี” โดนตำรวจตั้งข้อหาเพิ่มอีก 1 ข้อหา