อาหารไทยรสชาติต้นตำรับติดโผ เทรนด์อาหารมาแรงในสหรัฐฯปี 64

19 ธ.ค. 2563 | 17:40 น.

อาหารไทยรสชาติต้นตำรับติดเทรนด์อาหารที่น่าจับตามองในสหรัฐฯปี 64 ทูตพาณิชย์ชี้ช่องผู้ประกอบการไทยลุยตลาดต้องสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เผยไทยติดอันดับ 11 สหรัฐฯนำเข้าอาหารแสนล้าน

สื่อออนไลน์ Taste Terminal (www.tasteterminal.com) ด้านไลฟ์สไตล์ อาหาร เครื่องดื่ม และการท่องเที่ยว ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเสนอบทความ เรื่อง 6 Restaurant and Food Trends to Look Out for in 2021 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 โดยอาหารไทยรสชาติต้นตำรับได้รับจัดการอันดับให้เป็นหนึ่งในเทรนด์อาหารที่น่าจับตามองในปี 2564 โดยเทรนด์ 6 ประการของร้านอาหารและอาหารในปีหน้ามีดังนี้

 

 1.ควบรับประทานอาหารเช้าและอาหารกลางวันเข้าด้วยกัน : ซึ่งชาวอเมริกันมักจะเรียกว่าบรั้นช์(Brunch) ด้วยคาดว่าในปี 2564 ผู้คนยังต้องประหยัด ค่าใช้จ่าย และยังมีการทำงานที่บ้าน จึงคาดว่าคนจะมีโอกาสพบปะสังสรรค์หรือประชุม ด้วยการควบรับประทานอาหารเช้า หรือจะเป็นการรับประทานอาหารเช้ามื้อใหญ่เผื่อมื้อกลางวันร่วมกันมากขึ้น

 

 2.การใช้ถั่วชิกพีส์ (Chickpeas) ในการปรุงอาหารมากขึ้น : ถั่วชิกพีส์ จะถูกนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารและของหวาน สินค้าอาหารที่มักจะมีส่วนผสมเป็ ถั่วชิกพีส์ได้แก่ ไอศกรีม, ซีเรียล, ชิพส์, Dips, Flatbreads เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วถั่วชิกพีส์ยังเป็นอาหารวีแกนเพื่อสุขภาพที่มีโภชนาการและราคาไม่แพง

 

 3.อาหารไทยรสชาติแบบดั้งเดิม ( Authentic Thai Cuisine) : คาดว่าร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ จะให้บริการอาหารไทยรสชาติแบบต้นตำรับหรือมีรสชาติเป็นไทยแท้กันมากขึ้น พร้อมกับใช้วัตถุดิบสดใหม่และอาหารแบบดั้งเดิม แทนที่จะเป็นรสชาติแบบตะวันตก

 

4.การกลับมาใช้ไขมันเพื่อสุขภาพ (Healthy Fats) : หลังจากหลายปีที่ไขมันถูกมองว่าไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ในปีหน้านี้ไขมันจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะไขมันที่ดีซึ่งเป็นไขมันจากพืชที่เป็นเทรนด์สำคัญ ปัจจุบันผู้บริโภคต้องการเพิ่มไขมันชนิดที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

 

 5.ครัวที่ไม่มีหน้าร้าน (Ghost Kitchen/Dark Kitchens) คอนเซปต์ รูปแบบใหม่ที่เติบโตในปีที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการอาหารมาเช่าพื้นที่ครัวเพื่อปรุงอาหารและจัดส่งอาหารไปยังลูกค้า

 

6.การบริโภคเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี : ในปี 2564 จะมีผู้บริโภคจะใช้พื้นฐานในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาประกอบการตัดสินใจเรื่องอาหาร การงดการบริโภคเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดภาวะโลกร้อน ลดคาร์บอนฟุตพรินท์ จะมีกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นมังสวิรัติและวีแกนมากขึ้น

อาหารไทยรสชาติต้นตำรับติดโผ เทรนด์อาหารมาแรงในสหรัฐฯปี 64

 

ทั้งนี้บทวิเคราะห์ การบริโภคสินค้าอาหารในสหรัฐฯ สำนักวิจัยเศรษฐกิจ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่า ผู้บริโภคสหรัฐฯ ใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าอาหารรวมเป็นมูลค่า 1,777 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 55 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์)ในปี 2562 หรือคิดเป็นรายจ่ายการบริโภคอาหารต่อหัวประมาณ 5,446 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1.68 แสนบาท)โดยแยกเป็นใช้จ่ายซื้ออาหารผ่านช่องทางธุรกิจบริการอาหาร/ร้านอาหารเป็นมูลค่า 969.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่วนที่เหลืออีกจำนวน 807.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการใช้จ่ายซื้ออาหารจากช่องทางค้าปลีก/ซุปเปอร์มาร์เก็ต

 

 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทั้งเชิงลบและเชิงบวกต่อตลาดการบริโภคสินค้าอาหาร ช่องทางธุรกิจบริการอาหาร/ร้านอาหารได้รับผลกระทบรุนแรงมาก เป็นผลให้ยอดขายร้านอาหารลดลงจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ และเป็นผลให้ร้านอาหารจำนวนหนึ่งต้องเลิก กิจการ ในขณะที่ผู้บริโภคมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น เนื่องจากการหันมาทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น ความต้องการซื้ออาหารมาปรุงที่บ้านเพิ่มขึ้น ช่องทางร้านค้าปลีก/ซุปเปอร์มาร์เก็ตจึงเป็นช่องทางที่แจ่มใสและขยายตัวในอัตราสูง

 

การนำเข้าสินค้าอาหาร

สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเป็นมูลค่าประมาณ 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท)ในปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 มีแหล่งนำเข้าสำคัญ 5 อันดับ แรก ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา จีน ฝรั่งเศส และอิตาลี

 

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากไทยเป็นมูลค่า 3.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) โดยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 11 ของสหรัฐฯ มีสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ข้าวสาร เครื่องกระป๋อง อาหารแปรรูป/สำเร็จรูป และ เครื่องดื่ม

 

อาหารไทยรสชาติต้นตำรับติดโผ เทรนด์อาหารมาแรงในสหรัฐฯปี 64

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ นครชิคาโก ได้ให้ข้อพิจารณาการขยายตลาดในสหรัฐฯ ดังนี้

1.ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งสินค้าอาหารไปจำหน่ายในสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงความต้องการ พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคสหรัฐฯ

 

2.วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายอาหาร แต่ก็ได้สร้างความต้องการสินค้ารายการใหม่ ๆ อันเป็นผลจากการให้ความสำคัญและปฏิบัติในเรื่องความปลอดภัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายไวรัส สินค้าที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นสูงของธุรกิจร้านอาหาร คือ บรรจุภัณฑ์ใช้หนเดียว (Single-use packaging) ได้แก่ Single-use cups และ To-go box จะเป็นโอกาสการขยายตลาดการส่งออกบรรจุภัณฑ์ใช้ในร้านอาหารของไทยไปยังสหรัฐฯ ดังนั้นผู้ผลิต/ส่งออกไทยควรพิจาณาการออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยบรรจุภัณฑ์ต้องได้รับการปรับปรุงในด้านความเหมาะสมกับประเภทอาหาร ขนาดและความกะทัดรัด คุณสมบัติการรักษาอุณหภูมิอาหาร และรวมไปถึงความปลอดภัยในการนำพาอาหาร

 

 3. งานแสดงสินค้าเป็นช่องทางสำคัญในการขยายตลาดสินค้าอาหารไทยไป ยังสหรัฐฯ งานแสดงสินค้าที่สำคัญ ได้แก่

3.1 งานแสดงสินค้าด้านธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ (1) NRA Restaurant Show, Chicago, Illinois (2) Western Foodservice & Hospitality Expo, Anaheim, CA (3) International Restaurant & Foodservice Show of NY,

 

3.2 งานแสดงสินค้าของช่องทางค้าปลีก/ซุปเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ (1) Natural Products Expo West, Anaheim, CA (2) Natural Product Expo East, Philadelphia, PA (3) Americas Food & Beverage Show, Miami, FL (4) Winter Fancy Food Show, San Francisco, CA (5) Summer Fancy Food Show, New York, NY (6) Private Label Show, Chicago, Illinois

 

อาหารไทยรสชาติต้นตำรับติดโผ เทรนด์อาหารมาแรงในสหรัฐฯปี 64