ฟิลิปปินส์ลั่นศูนย์กลาง AI อาเซียน จี้ไทยเร่งสปีดแข่ง

31 ต.ค. 2563 | 18:26 น.
1.5 k

ฟิลิปปินส์ลุยโรดแมป AI ปักธงศูนย์กลางปัญญาประดิษฐ์อาเซียน นำร่องตั้งรง.อุตสาหกรรม 4.0 จับตาผลพวงทำชาวตากาล็อกตกงานเพิ่ม จี้ไทยเร่งสปีดด้าน AI แข่ง ตัวช่วยภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวหลังโควิด

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต./ทูตพาณิชย์) ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ รายงาน โดยอ้างอิงสื่อของฟิลิปปินส์ ระบุ นาย Ramon L. Ropez รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ (DIT) ได้เผยว่า ในปีหน้ากระทรวงฯ มีแผนที่จะเปิดตัวและเริ่มดำเนินการแผนยุทธศาสตร์ (Road Map) ในการกำหนดให้ประเทศ ฟิลิปปินส์เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) โดยกระทรวงฯ ได้เรียกร้อง ให้สถาบันการจัดการแห่งเอเชีย (Asian Institute of Management) ช่วยพัฒนาแผนโรดแมป AI สำหรับภาคธุรกิจ การเกษตร การผลิตและบริการของประเทศ

 

แผนโรดแมปดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การทำให้ฟิลิปปินส์เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้าน AI ในภูมิภาคอาเซียนผ่านการพัฒนากลุ่มคนเก่ง (Talent Pool) และการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งระบบนิเวศผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Ecosystem) ซึ่งจะทำให้มั่นใจถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศฟิลิปปินส์ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และเปิดโอกาสในการเติบโตสำหรับกำลังคนและบุคลากรในประเทศ

 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการจัดทำแผนโรดแมป AI กระทรวงฯ ยังอยู่ในระหว่าง การพัฒนากรอบการทำงาน (Framework) เพื่อเพิ่มทักษะใหม่ ๆ และยกระดับแรงงานสำหรับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม 4.0  นอกจากนี้ กระทรวงฯ มีแผนที่จะจัดตั้งโรงงานนำร่องอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อใช้เป็นสถานที่สาธิต เทคโนโลยีที่ธุรกิจต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ รวมถึงการจัดตั้งสถาบันการศึกษาสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) และศูนย์นวัตกรรม (Innovation Center) เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมสำหรับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน

 

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า ฟิลิปปินส์สามารถเก่งด้าน AI ได้ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนมากมาย อาทิเช่น ประชากรส่วนใหญ่อายุยังน้อยอยู่ในวัยหนุ่มสาว และสถาบันการศึกษา ระดับสูงมีการเปิดสอนหลักสูตร AI เป็นการเฉพาะ โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของมนุษย์ในการเขียนโปรแกรมและการนำข้อมูลมาไปใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ ปัจจุบันธุรกิจในฟิลิปปินส์หันมาให้ความสนใจในเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการปฏิวัติอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยผลการสำรวจของกระทรวงฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของบริษัทต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์เมื่อปีที่แล้ว พบว่า 7 ใน 10 ของผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Enterprises) และ 6 ใน 10 ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ได้เปิดกว้างหรือคุ้นเคยกับ Industry 4.0 มากขึ้น โดยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภาคธุรกิจของฟิลิปปินส์บางแห่งได้มีการนำระบบ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจบ้างแล้ว และวิกฤติ COVID-19 ได้กลายเป็นตัวช่วยเร่งให้ธุรกิจมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น โดยเฉพาะการใช้โปรแกรม Chatbots ในการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ตลอดจนการติดตามและประเมินสุขภาพของลูกค้า และบุคคลากร การจัดการองค์ความรู้ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

 

ทั้งนี้ สำหรับบรรดาธุรกิจในฟิลิปปินส์ที่มีการใช้เทคโนโลยี AI ตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการเงินต่างๆ เช่น Bank of the Philippine Islands และ BDO Unibank Inc. บริษัทนายหน้า BDO Nomura Securities Inc. เป็นต้น โดยได้นำระบบ Chatbots และ AI มาใช้ในการให้บริการลูกค้าและปรับปรุงระบบจัดการเว็บไซด์ นอกจากนี้ยังมีบริษัท Del Monte Philippine Inc. ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ในฟิลิปปินส์ได้นำโดรน (Drones) มาใช้ในการสำรวจพื้นที่และตรวจสอบสภาพแวดล้อมในไร่สับปะรดในเมือง Bukidnon เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระบุว่า แม้ว่าการใช้ AI ในประเทศฟิลิปปินส์ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และยังไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคในการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้กระทรวงฯ จึงมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องในการจัดการกับอุปสรรคต่างๆ เช่น การขาดแคลนความสามารถทางการเงินและทางเทคนิค รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ดี กระทรวงฯ เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยี AI จะทำให้ฟิลิปปินส์มีโอกาสมากขึ้นในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งสามารถสร้างสภาวะปกติใหม่ (New Normal) ที่ดีขึ้น หลังวิกฤติ COVID-19 อีกด้วย

 

ฟิลิปปินส์ลั่นศูนย์กลาง AI อาเซียน จี้ไทยเร่งสปีดแข่ง

สคต. ณ กรุงมะนิลา ให้ความเห็นว่า จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือระบบสมองจักรกลอัจฉริยะ) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความสามารถหลากหลายและถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการคาดการณ์ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนแปลงสังคม และเศรษฐกิจอย่างมากในโลกอนาคต ทำาให้หลายประเทศต้องการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของตนเอง เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีดังกล่าว โดยประเทศใดที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วและสามารถประยุกต์ใช้ในบริบทที่หลากหลาย ย่อมสร้างความได้เปรียบในหลายมิติทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ โดยสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและยกระดับความสามารถในการ แข่งขันของธุรกิจต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับในฟิลิปปินส์กระแส AI กำลังเริ่มเข้ามามีบทบาทและมีการนำไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แพร่หลายมากขึ้น โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายสนับสนุนและพัฒนา เทคโนโลยี AI อย่างจริงจัง โดย AI เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ภายใต้แผนพัฒนาของฟิลิปปินส์ปี 2560 – 2565 (The Philippine Development Plan 2017 – 2022) ซึ่งมุ่งเม้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก ตามนโยบายการผลักดันโครงการก่อสร้างพื้นฐาน Build Build Build ของรัฐบาล

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างการจัดทำแผนโรดแมป AI เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินการและโครงสร้างพื้นฐานระดับประเทศเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี AI และระบบดิจิทัลของประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เทคโนโลยี AI เริ่มเป็นที่รู้จักในฟิลิปปินส์ช่วงกลางปี 2560 และความต้องการก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้แต่องค์กรหรือธุรกิจขนาดเล็กก็ต้องการใช้ระบบ การจัดการแบบอัตโนมัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและสร้างรายได้ที่สูงขึ้น และคาดว่าภายในปี 2573 จะได้เห็นแบรนด์ บริษัทใหญ่ ๆ ในฟิลิปปินส์นำเทคโนโลยี AI มาใช้เพิ่มมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ข้อกังวลสำคัญของเทคโนโลยี AI ที่ไม่อาจมองข้าม คือ ผลกระทบต่อตลาดแรงงานในฟิลิปปินส์ เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่และประชากรส่วนใหญ่อยู่วัยทำงาน หากธุรกิจและอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น จะส่งผลให้แรงงานฟิลิปปินส์มีความเสี่ยง ที่จะถูกเลิกจ้างจำนวนมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Business Process Outsourcing (BPO) โดยผลการสำรวจ Pew Research Center คาดว่าการนำหุ่นยนต์หรือระบบดิจิทัลมาใช้จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 1 ใน 3 ของการจ้าง พนักงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม BPO ในอินเดียและฟิลิปปินส์ และเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่พนักงานจำนวนมากภายใน ปี 2568 ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลฟิลิปปินส์เช่นกันในการสร้างสมดุลระหว่างการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ต้องการเป็น Hub ในอาเซียน กับการรักษาระดับการจ้างงานเพื่อไม่ให้กระทบตลาดแรงงานขนาดใหญ่ของประเทศ

 

สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยี AI เริ่มเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะระบบ Chatbot และ Robot Process Automation (RPA) ที่เป็นระบบงานที่องค์กรต่างๆ ในไทยนิยมนำมาใช้ประกอบกับวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้ข้อจำกัดในการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงล็อกดาวน์การใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาช่วยในการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคาดว่าเทคโนโลยี AI อาจกลายเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวในอนาคต ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจและวางนโยบายที่เหมาะสมในการรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการจัดเตรียมความพร้อมของบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และโลกยุคหลัง COVID-19 ต่อไป