‘ทรัมป์’ส่งรองปธน.เยือนเอเชียขายฝัน‘อินโด-แปซิฟิก’-กองทุน USIDFC

21 พ.ย. 2561 | 12:47 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2561 | 19:50 น.
นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2560 ไม่เพียงข้อตกลงทีพีพีจะถูกลดทอนความน่าสนใจลงอย่างฮวบฮาบ แต่บทบาทของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชีย พลอยถูกลดทอนลงไปด้วยมากเช่นกัน ท่าทีของสหรัฐฯที่แสดงความชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเป็นอันดับ 1 แม้จะต้องเผชิญหน้าทางการค้าหรือใช้มาตรการแรง เช่น การตั้งกำแพงภาษีกับประเทศคู่ค้าที่เคยเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน ทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น โดดเดี่ยวและถอยห่างจากภูมิภาคเอเชียออกไปเรื่อยๆ แม้แต่ญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นมายาวนาน ยังถูกสหรัฐฯตั้งแง่ว่าได้เปรียบดุลการค้ามากเกินไป และถูกตั้งกำแพงภาษีสินค้าเช่นกัน

mike1 ดังนั้น ในการพบปะกับผู้นำรัฐบาลของ 10 ชาติอาเซียนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 เมื่อ นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกประธานาธิบดีทรัมป์ส่งมาเป็นตัวแทน กล่าวว่าสหรัฐฯสนับสนุนแนวคิดความร่วมมือ “อินโด-แปซิฟิก” ที่ “เสรีและเปิดกว้าง” หลายฝ่ายจึงมีคำถามว่า สหรัฐฯกลับมาเอาจริงเอาจังและให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับพหุภาคีที่เปิดกว้างและเสรีอีกครั้งแล้วจริงๆ หรือ

ไมค์ เพนซ์นั้นตามกำหนดเขาเริ่มการตระเวนเยือนประเทศในเอเชียประเดิมด้วยญี่ปุ่นเมื่อต้นสัปดาห์ (12 พ.ย.)  และตามด้วยสิงคโปร์ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนซัมมิท และการประชุมความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออก ก่อนจะไปจบที่การประชุมเอเปกซัมมิทที่ปาปัวนิวกินี  ส่วนแนวคิดความร่วมมือระดับภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก” ที่ประธานาธิบดีทรัมป์โหมโรงเอาไว้ตั้งแต่ครั้งมาร่วมประชุมเอเปกซัมมิท ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนามเมื่อปีที่ผ่านมา (2560) เพนซ์นำกลับมาสานต่อพร้อมทั้งเพิ่มเติมนํ้าหนักให้มีความหนักแน่นจริงจังมากขึ้นด้วยการจัดตั้งสำนักงานความร่วมมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือ ยูเอสไอดีเอฟซี (USIDFC: U.S. International Development Finance Cooperation) ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่หมาดพร้อมเงินทุน 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเป็นวงเงินสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก  ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯครั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่าเพื่อนำมาคานนํ้าหนักถ่วงดุลกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนที่มีธนาคารเพื่อการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB เป็นแหล่งสนับสนุนทางการเงิน

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไมค์ เพนซ์ เคยกล่าวปาฐกถาพิเศษที่สถาบันฮัดสัน มีเนื้อหาตอนหนึ่งพาดพิงโครงการ BRI ของจีนว่า เป็นยุทธวิธีทางการทูตของจีนที่เปรียบเสมือน “กับดักหนี้” เพราะประเทศเจ้าภาพโครงการจะต้องแบกรับภาระหนี้ในระยะยาว ทำให้มีหลายประเทศที่เคยจับมือร่วมลงทุนในโครงการ BRI ของจีนต้องคิดใหม่และยุติโครงการไปก็มี เช่นกรณีของมัลดีฟส์ ศรีลังกา และมาเลเซีย ในสถานการณ์เช่นนี้ กองทุน USIDFC ของสหรัฐฯจึงอาจเป็นช่องทางที่สหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีบทบาทในฐานะหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนที่เป็นทางเลือกใหม่  แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่สหรัฐฯจะต้องพิสูจน์ตัวเองว่า “จริงจัง” และ “จริงใจ” เพียงใด

.....................................................................................................................
มหาธีร์ถึงทรัมป์
จะแปลกใจมากถ้า(ทรัมป์)ได้ไปต่อ


ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีวัย 93 ของมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์สื่อตะวันตกเมื่อเร็วๆนี้ว่า จะเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก ถ้าหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้รับเลือกตั้งให้ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต่อในสมัยที่ 2 หลังจากที่การเลือกตั้งกลางเทอมเพิ่งผ่านพ้นไป สมาชิกพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำผลงานได้ยํ่าแย่ โดยผู้นำมาเลเซียใช้คำว่า poor showing นอกจากนี้เขายังระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯซึ่งไม่เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำรัฐบาล หรือการประชุมซัมมิทหลายเวทีในเอเชีย ซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนที่มีขึ้นในสัปดาห์นี้ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยให้นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี มาเป็นตัวแทน ก็บ่งบอกอยู่ว่า ผู้นำสหรัฐฯคนนี้ไม่ได้ให้นํ้าหนักหรือความสำคัญกับพันธกิจในภูมิภาคเอเชีย

Mahathir-Mohamad ช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี มหาธีร์ยังกล่าวว่า การอยู่ต่อในตำแหน่งของนายทรัมป์จะทำให้สงครามการค้าที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อหลายประเทศ ยืดเยื้อต่อไปอีกหลายปี แต่ถ้าเขาหลุดจากตำแหน่ง ก็เท่ากับเป็นการยุติภาวะเผชิญหน้าทางการค้า “ถ้าทรัมป์ไม่อยู่เสียคนหนึ่งแล้ว สมาชิกคนอื่นๆ ในรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรีพับลิกันหรือเดโมแครต ก็คงไม่มีใครเดินหน้าสงครามการค้านี้ และการอยู่ต่อของทรัมป์ในทำเนียบขาว ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าการตั้งกำแพงภาษีใส่กัน จะไปต่ออีกยาวไกลแค่ไหน” ดร.มหาธีร์กล่าวว่า เขาเองไม่คาดหวังว่า การพบกันระหว่างนายทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในเวทีการประชุมจี 20 ที่อาร์เจนตินาปลายเดือนนี้ จะให้ผลลัพธ์ในเชิงคลี่คลายหรือรอมชอมกันได้ “สำหรับทรัมป์แล้ว ผมไม่คิดว่าเราจะคาดเดาอะไรได้”

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,419 ระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2561

e-book-1-503x62