อาเซียนเจอ'เอลนีโญ'รอบ 2 มาเร็วเกินคาด หวั่นแล้งหนักปลายปีระวังข้าว-ปาล์ม

19 มี.ค. 2560 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2560 | 13:51 น.
ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ต้องเผชิญกับภาวะแห้งแล้งหนักจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ อีกครั้งเป็นวงรอบ 3 ปีกลับมาเร็วที่สุดในรอบ 50 ปี ผู้เชี่ยวชาญชี้แล้งปลายปีกระทบการปลูกข้าว ปาล์มและอ้อยทั่วเอเชียอาคเนย์ คาดสุมาตราแล้งสุดหวั่นปัญหาหมอกควันพิษข้ามแดนกลับมาอีกรอบ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างสำนักงานพยากรณ์อากาศทั่วโลกว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งเกิดจากกระแสน้ำทะเลร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ทำให้ภูมิอากาศร้อนขึ้น กำลังจะกลับมาหลังจากที่จบวงจรไปได้ไม่ถึงปี เป็นวงรอบ 3 ปีซึ่งเร็วที่สุดในรอบกว่า 50 ปี

บลูมเบิร์กระบุว่า แบบจำลอง 6 ใน 8 แบบของสำนักพยากรณ์อากาศนานาชาติ ระบุว่าโอกาสที่จะเกิดวงจรเอลนีโญครั้งใหม่มีมากกว่า 50 % โดยจะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในมหาสุมทรแปซิฟิกที่อุณหภูมิเปลี่ยนจากร้อนไปสู่เย็นและกลับมาร้อนใหม่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1960

ปรากฏการณ์เอลนีโญที่จบไปคราวที่แล้วหมาด ๆ ทำให้เกิดภัยแล้งอย่างหนักกระทบการปลูกข้าวทั่วภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และกระทบต่อการปลูกโกโก้ในประเทศกานาและอ้อยในประเทศไทย

กรมอุตุนิยมของออสเตรเลียทำนายว่าส่วนกลางของมหาสมุทรเอเชียจะมีอุณหภูมิร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ขณะ ที่ภูมิอากาศในโซนมหาสมุทรซีกโลกใต้เขตอบอุ่นจะอยู่ระดับปรกติ โดยคาดว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป เอลนีโญจะเริ่มเกิดขึ้น โดยกรมอุตุของออสเตรเลีย ระบุด้วยว่าการพยากรณ์อากาศในซีกโลกใต้จะมีความบ่ายเบนมากกว่าโซนอื่นๆ

นายไคเออร์ทาพรีย์ (Kyle Tapley) นักอุตุนิยมเกษตรอาวุโส ของ WDA Weather Service ให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กว่า เอลนีโญ จะทำให้เกิดความแห้งแล้งมากกว่าปรกติในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมและต่อเนื่องไปถึงสิ้นปีนี้ โดยพื้นที่ที่จะแห้งแล้งมากที่สุดคือเกาะสุมาตราและมาเลเซีย

นายทาพรีย์ให้สัมภาษณ์ที่สิงคโปร์ว่า “เอลนีโญเที่ยวนี้ไม่รุนแรงเท่าคราวที่แล้วเพราะเป็นเอลนีโญอ่อน ๆ เชื่อว่าน้ำฝนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมีปริมาณน้อยกว่าปรกติเล็กน้อย”

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ภูมิอากาศแสดงความกังวลว่า ปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่มักจะเกิดที่เกาะสุมาตรา และทำให้เกิดหมอกควันในหลายประเทศของอาเซียนรวมทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไนและประเทศไทยจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานก่อนหน้านี้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำท่าจะหวนมาสร้างความผันผวนทางด้านภูมิอากาศให้กับประเทศสองฝั่งมหาสมุทรในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะทำให้ผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตปลายปีนี้ลดลง

นอกจากข้าวแล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านสินค้าโภคภัณฑ์ระบุว่า เอลนีโญ มีประวัติทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหน้าแล้งมาเร็วกว่าปรกติจากผลของเอลนีโญ

หากเอลนีโญ มาเร็วประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักอีกประเทศหนึ่งคืออินเดีย ซึ่งพึ่งพาฝนจากลมมรสุม ที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ถ้าเอลนีโญมาเร็วก็จะทำให้ช่วงลมมรสุมสั้นลง กระทบผลผลิตทั้งด้านทางด้านข้าวเจ้าและข้าวสาลี ซึ่งอินเดียเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ของโลก

อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเอลนีโญ จะทำให้ผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลีองของ ประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิลและอาร์เจนตินา ดีเป็นพิเศษ โดยรอยเตอร์ระบุว่าแม้การศึกษาความเกี่ยวพันระหว่างเอลนีโญและผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ดีในสหรัฐอเมริกาจะไม่ชัดเจนแต่ก็พบว่าผลผลิตเกษตรที่ดีในซีกโลกเหนือมักจะเกิดขึ้น ในช่วงเอลนีโญ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560