เปิดอำนาจหน้าที่ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ส่งศาลรธน.ปมโหวตนายกฯรอบ 2

25 ก.ค. 2566 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2566 | 17:55 น.

เปิดอำนาจ หน้าที่และความสำคัญของ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ในการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความปมเสนอชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าและแคนดิเดตพรรคก้าวไกลโหวตเลือกนายกฯ รอบ 2 ของรัฐสภา

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" คือใคร เป็นคำถามของใครหลายคน หลังส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือพิจารณาวินิจฉัยการลงมติของที่ประชุมรัฐสภา ว่าด้วยการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตพรรคก้าวไกล เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนอยู่ในขณะนี้

ฐานเศรษฐกิจ พาไปเปิดดูอำนาจหน้าที่และบทบาทที่สำคัญของ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ให้ได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดหน้าที่และอํานาจของ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ไว้ 2 ข้ออยู่ในมาตรา 230 ดังนี้ 

1.เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จําเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ

2.แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่า มีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดําเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินตาม (1) หรือ (2) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการ ตามที่เห็นสมควรต่อไป 

ในการดําเนินการตาม (1) หรือ (2) หากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดําเนินการต่อไป

นอกจากนี้ในกฎหมายได้กำหนดไว้ด้วยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน อาจเสนอเรื่องต่อ "ศาลรัฐธรรมนูญ" หรือ "ศาลปกครอง" ได้เมื่อเห็นว่า มีกรณี ดังต่อไปนี้ 

1.บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 

2.กฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ขั้นตอนและวิธีการสรรหา ผู้ตรวจการแผ่นดิน 

ผู้ตรวจการแผ่นดินในประเทศไทยเริ่มมีการจัดตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 โดยใช้ชื่อว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา"

ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 3 คน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวน 3 คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ผู้ที่ได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่ากรมตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด

โดยต้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน และเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี จำนวน 1 คน

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน 

1.นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน 

2.นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน 

3.นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน

มติผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรธน.ปมโหวตนายกฯรอบ 3 

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" เห็นว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ เป็นการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ใช่การเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เพราะการเสนอชื่อนายกฯ มีกำหนดไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญ และในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาก็เป็นคนละหมวดกันกับญัตติปกติ

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมผู้ตรวจการฯ เห็นชอบร่วมกันว่า การดำเนินการของรัฐสภาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ในฐานะที่รัฐสภาเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐและมีการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จึงมีมติให้ "สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน" ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  

ทั้งยังมีมติเห็นด้วยกับคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการ หรือวิธีการชั่วคราวเพื่อชะลอการลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่า หากให้ดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ และยากต่อการที่จะเยียวยาแก้ไขได้ 

สำหรับเรื่องนี้ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวให้ความเห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้ อยู่ที่ว่าศาลฯจะรับหรือไม่รับคดีนี้ก็ได้ เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจพิจารณา

สำหรับอำนาจที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ทำได้เป็นเรื่องที่ถูกละเมิดโดยตรง เช่น พ.ร.บ.ประกอบ รัฐธรรมนูญมาตรา 47 ที่ให้อำนาจไว้ เช่น เรื่องที่ผู้ตรวจการส่งมาจะต้องเป็นเรื่องที่ถูกละเมิดโดยตรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ