“เพื่อไทย” วาง 2 สเต็ป รอตั้งรัฐบาล เสนอ “เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง”นายกฯ

19 ก.ค. 2566 | 08:00 น.

“เพื่อไทย" เล็งดัน "เศรษฐา ทวีสิน" ลุ้นนายกฯ ในรอบที่ 3 หาก "พิธา" ไม่ผ่านโหวตรอบ 2 และหาก “เศรษฐา” ไม่ผ่านด่าน ส.ว. เหตุยังมี "ก้าวไกล"ร่วมด้วย ก็ถึงคิวเขย่าสูตรรัฐบาลใหม่ ชงชื่อ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” เป็นนายกฯ ในรอบ 4

ในวันที่ 19 ก.ค. 2566 เวลา 09.30 น. จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีเรื่องเสนอใหม่ คือ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560

ทั้งนี้เมื่อเปิดการประชุมมา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะหารือที่ประชุม กรณีจะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 ได้หรือไม่ 

หลังจากมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย บางฝ่ายเห็นว่าเสนอชื่ออีกครั้งได้ ขณะที่บางฝ่ายบอกว่าญัตติตกไปแล้ว เสนอชื่อเดิมใหม่ไม่ได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 

โดยหลังฟังความเห็นจากสมาชิกแล้ว ประธานรัฐสภาจะวินิจฉัย หรืออาจจะต้องให้ที่ประชุมลงมติ

สมมติสามารถเสนอชื่อ พิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ ได้อีกครั้ง ก็ต้องมาลุ้นว่า พิธา ซึ่งมีเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค 312 เสียง ต้องได้เสียงอย่างน้อย 376 เสียง จึงเป็นนายกฯ ได้ แล้วจะมีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เทเสียงให้ถึง 64-65 เสียงหรือไม่ 

“หากพวกเราทำเต็มที่ใน 2 สมรภูมินี้แล้วเป็นที่ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริงๆ ผมพร้อมเปิดโอกาสให้ประเทศไทย โดยเปิดทางให้พรรคอันดับสอง คือ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้ MOU ที่ทำร่วมกันไว้ และผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลทุกคนพร้อมสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย” พิธา ประกาศ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา 

2 สมรภูมิที่ว่าคือ การโหวตนายกฯ ในวันที่ 19 ก.ค. และ การเสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ 

พท.ดัน“เศรษฐา”นายกฯ

อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 ถึงกรณีถ้า นายพิธา ไม่ผ่านการโหวตเป็นนายกฯ ในรอบที่สอง ว่า หากการเสนอชื่อ นายพิธา จะต้องตกไป พรรคเพื่อไทย (พท.) จะต้องกลับมาคุยกันก่อน 

“หากต้องเป็นพรรคเพื่อไทย ก็จะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ และส่วนตัวยังไม่ได้คิดไว้ว่าจะต้องเข้าไปเป็นดำรงตำแหน่งอะไรในฝ่ายบริหาร แต่ยืนยันว่าแคนดิเดตนายกฯ ทั้ง 3 คน ยังช่วยกันทำงาน ไม่ว่าจะตำแหน่งไหนก็ช่วยกันทำงาน”

อย่างไรก็ตาม น.ส.แพทองธาร ยังไม่ขอตอบกรณีหาก พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะมีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการหรือไม่ หลัง ส.ว.ยืนยันจะไม่โหวตให้ โดยขอให้เป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรค และ 8 พรรคร่วมคุยกันดีกว่า 

"เศรษฐา"พร้อมนั่งนายกฯ 

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 2 ของ พรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 ถึงความพร้อมในการเป็นนายกฯ หาก นายพิธา ไม่ผ่านการโหวตรอบ 2 ว่า “ถ้าไม่พร้อมก็คงไม่มีรายชื่อผมเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่ว่าจะเป็นในฐานะแกนนำ หรือ พรรคร่วมรัฐบาล ผมได้รับมอบหมายให้มาดูแลเรื่องเศรษฐกิจ”

เมื่อถามว่าหากสูตรจัดตั้งรัฐบาลไม่มีพรรคก้าวไกล พร้อมเป็นนายกฯ หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่มีการพูดคุยกัน และ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ได้ชี้แจง หากมีความเห็นแตกต่างกันใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.) พรรค ก็ต้องกลับมาพูดคุยกัน เพราะเราก็มีแคนดิเดตนายกฯ ถึง 3 คน ดังนั้นต้องให้เกียรติกรรมการบริหาร ตนคงไม่ก้าวล่วง 

เมื่อถามย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นสมการใด หาก กก.บห.มีมติพร้อมที่จะทำตามหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องไปว่ากันในตรงนั้น เพราะมีหลักการหลายอย่างที่ต้องมาคุยกัน  

                          “เพื่อไทย” วาง 2 สเต็ป รอตั้งรัฐบาล เสนอ “เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง”นายกฯ

“เศรษฐา”วืด-ถึงคิวอุ๊งอิ๊ง

ทั้งนี้ ตามสเต็ป ในวันที่ 19 ก.ค. หาก นายพิธา ไม่สามารถเป็นนายกฯ คนที่ 30 ได้ ก็จะเป็นโอกาสของพรรคอันดับสอง คือ “พรรคเพื่อไทย” ที่จะขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และจะมีการเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ให้เป็นนายกฯ ในลำดับถัดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ “เพื่อไทย” จะขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่หากองค์ประกอบยังเป็น 8 พรรคเดิม มี 312 เสียง เศรษฐา ก็ต้องไปลุ้นเหมือนกับ พิธา ว่าจะได้รับเสียงสนับสนุบให้เป็นนายกฯ จาก ส.ว. ถึง 65 เสียง เพื่อให้ได้ถึง 376 เสียง หรือไม่ 

แต่ดูแล้วคง “ยาก” ที่จะได้เสียงจาก ส.ว.ตามเป้า ตราบใดที่ยังมี “ก้าวไกล” ร่วมรัฐบาลอยู่ เพราะเงื่อนไขของ ส.ว. คือ ไม่เอาพรรคที่มีนโยบายแก้ หรือ ยก ม.112

สมมติในการโหวตเลือกนายกฯ ในรอบที่ 3 เศรษฐา ทวีสิน ไม่สามารถขึ้นมาเป็นนายกฯ ได้ ทาง พรรคเพื่อไทย ก็ต้องเขย่าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ด้วยการดึงพรรคจากขั้วรัฐบาลเดิมมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล 

องค์ประกอบของ “รัฐบาลเพื่อไทย” ก็อาจจะมี พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง รวมเป็นรัฐบาล 312 เสียง

โดยรัฐบาลเพื่อไทย จะไม่มี พรรคก้าวไกล ร่วมรัฐบาล

การที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” มี พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ มาร่วมรัฐบาลด้วย ก็มีโอกาสที่จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. สาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศวางมือการเมืองไปแล้ว และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในการโหวตสนับสนุนบุคคลที่พรรคเพื่อไทย เสนอให้เป็นนายกฯ ซึ่งก็น่าจะได้เสียงสนับสนุนรวมเกิน 376 เสียงไปได้   

สำหรับบุคคลที่จะผลักดันให้ขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของ “รัฐบาลเพื่อไทย” ในสูตรผสมใหม่ ก็ถึงคิวของบุตรสาวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั่นก็คือ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย นั่นเอง

มารอลุ้นกันว่า ในที่สุดแล้ว จะเป็น “รัฐบาลเพื่อไทย” ด้วยสูตรผสมพรรคอะไรบ้าง และ “นายกฯ คนที่ 30” จะจบที่ใคร?

+++++++


พลิกปูม เศรษฐา ทวีสิน

สปอร์ตไลท์ จับมาที่ชื่อของ "เศรษฐา ทวีสิน" ทันที หลังจาก อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า นายพิธา ไม่ผ่านการโหวตเป็นนายกฯ ในรอบที่ 2 ก็จะเสนอชื่อ เศรษฐา แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 2 เป็นนายกฯ 

สำหรับ เศรษฐา ทวีสิน  เป็นนักธุรกิจ อดีตประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ของ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไทยจากพรรคเพื่อไทย 

ปัจจุบันอายุ 61 ปี  มีชื่อเล่น นิด เป็นบุตรคนเดียวของ ร.อ.อำนวย ทวีสิน กับชดช้อย (สกุลเดิม: จูตระกูล) ในด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับ พ.ญ.พักตร์พิไล (สกุลเดิม: ปลัดรักษา) หรือ "หมออ้อม "มีบุตร 3 คน คือ นายณภัทร ทวีสิน "น้อบ", นายวรัตม์ ทวีสิน “แน้บ” และคนเล็กสุด นางสาวชนัญดา ทวีสิน “นุ้บ" 

                            “เพื่อไทย” วาง 2 สเต็ป รอตั้งรัฐบาล เสนอ “เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง”นายกฯ

เศรษฐา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ (Claremont Graduate University) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ 

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทในปี 2529 เข้าทำงานที่ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เป็นเวลา 4 ปี ต่อมาได้ย้ายไปทำงานที่ บจก.แสนสำราญ ของอภิชาติ จูตระกูล ลูกพี่ลูกน้องของเขา หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น บมจ.แสนสิริ โดยเขาได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทดังกล่าว

ในการชุมนุม พ.ศ. 2556–2557  เศรษฐาแสดงความไม่เห็นด้วยกับพฤติการณ์ของ กปปส. ต่อมาหลังรัฐประหาร 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งเรียกให้เขาไปรายงานตัว ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์

หลังจากนั้นเมื่อเกิดการระบาดทั่วของโควิด-19 และการประท้วงซึ่งนำโดยกลุ่มเยาวชน เป็นอีกครั้งที่ "เศรษฐา" ได้วิจารณ์การบริหารสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาล

ในเดือน พ.ย. 2565 เขาได้ประกาศว่าตนได้สมัครเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา ต่อมาในเดือน มี.ค. 2566 พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวของพรรคเพื่อไทย โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับแพทองธาร ชินวัตร 

จากนั้นเขาได้ลาออกจากแสนสิริ โดยไม่รับเงินเดือน พร้อมโอนหุ้นที่เคยถืออยู่ในบริษัทจำนวน 13 แห่ง ให้บุคคลอื่น รวมถึงชนัญดา บุตรคนเล็กของเขาอีกด้วย