"เพื่อไทย" เตือน "นโยบายภาษีก้าวไกล" ระวังเงินทุนไหลออก

01 มิ.ย. 2566 | 05:43 น.
523

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน และ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย เตือน "นโยบายภาษีก้าวไกล" ระวังเป็นเหตุเงินทุนไหลออก แนะคำนึงถึงเวลา และสถานการณ์ที่เหมาะสม

จากกระแสที่เกิดขึ้นหลังนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายจัดเก็บภาษี เช่น ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีกำไรขายหุ้น และการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล เป็นต้น

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน และ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย ถึงความเห็นต่อนโยบายด้านภาษีดังกล่าว โดยนายพิชัย แสดงความเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดีในการ
จัดเก็บภาษีเข้ารัฐเพิ่ม เนื่องจากประเทศไทยมีการเก็บภาษีต่ำมาก เมื่อเทียบกับGDP แต่ในภาวะนี้เห็นว่าควรต้องคำนึงถึงเวลา และสถานการณ์ที่เหมาะสมในการเก็บภาษีเพิ่มด้วย

 

สำหรับ "Capital Gain Tax" หรือ ภาษีกำไรจากการขายหุ้นนั้น นายพิชัยระบุว่า สามารถเก็บได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้านเวลา และสถานการณ์ นโยบายนี้ค่อนข้างสร้างความวิตกกังวลให้กับตลาดหุ้นตลาดทุนว่าจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต 

เนื่องจากในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังไม่ได้มีการพัฒนาอย่างเต็มที่ บริษัทต่างๆยังคงต้องระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์อยู่ การเก็บภาษีอาจเป็นการตัดตอนในระดับหนึ่ง ซึ่งมักพบการเก็บ "Capital Gain Tax" ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ไม่ค่อยปรากฏในประเทศกำลังพัฒนา

และต้องระวังว่าเงินทุนสะสมของประเทศไทยจะไหลกลับอเมริกาหากมีการเก็บ "Capital Gain Tax" เนื่องจากที่ผ่านมาเงินทุนไม่ไหลออก แม้ประเทศไทยจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกามาก ก็เพราะผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยให้สูงกว่า ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เงินทุนไหลออก ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสถานะการเงินการคลังได้

ดูคลิปเต็ม : "เพื่อไทย" เตือน "นโยบายภาษีก้าวไกล" ห่วงเงินทุนไหลออก

ส่วนการขึ้นภาษีนิติบุคคล เป็น23% นายพิชัยระบุว่า ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ดำเนินนโยบายลดภาษีนิติบุคคล จากเดิม30% มาเป็น23% และ20% ก็เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเทียบเคียงกับภาษีในฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ซึ่งเก็บภาษีอยู่ที่ 16-17% เท่านั้น

การลดภาษีดังกล่าว นอกจากจะจูงใจนักลงทุนแล้ว ยังทำให้คนเข้าสู่ระบบภาษีเพิ่มขึ้น และจัดเก็บภาษีได้จำนวนมาก โดยภาษีนิติบุคคลที่หายไปในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นเพราะการรัฐประหาร ไม่ได้เกิดจากการลดอัตราภาษีแต่อย่างใด 

ฉะนั้นหากมีการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล จึงต้องคำนึงว่า จะทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนลงหรือไม่ เพราะทั้งปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ค่าแรงที่จะขึ้น และภาษีที่จะขึ้นไปอีก อาจเป็นอุปสรรคที่นักลงทุนต่างประเทศจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

เพราะหากเศรษฐกิจดีขึ้น นักลงทุนมากขึ้น การเก็บภาษีในอัตราเดิม แต่มีมูลค่าภาษีที่เก็บได้มากขึ้น เช่นที่คุณโทนี่ได้พูดไว้ว่า "Less Is More" อาจเป็นประโยชน์ได้มากกว่า 

นอกจากนี้นายพิชัย ยังได้แสดงความเห็นต่อการเก็บภาษีความมั่งคั่ง ที่ 0.5% ในผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 300ล้านบาทขึ้นไปว่า อาจทำให้คนไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะว่าผู้รวยขึ้นมาจากการมีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลายร้อยล้าน 

โดยส่วนตัวเห็นว่า การเก็บภาษีจากคนรวย มาให้คนจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ก็เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง แต่อาจต้องคิดให้รอบคอบ เพราะในช่วง 8ปีที่ผ่านมา มีเศรษฐีที่รวยเพิ่มมากขึ้นมโหฬารเป็นแสนแสนล้าน ในขณะที่คนจนมีรายได้ลดลง อาจมีการยกตัวเลขสินทรัพย์ขยับขึ้นไป เป็น 500-1,000 ล้าน ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

อีกกรณีหนึ่งที่ห่วงใย หากมีการเก็บภาษีความมั่งคั่ง นั่นก็คือคนที่ได้รับที่ดินเป็นมรดก โดยที่ตนเองไม่ได้มีรายได้ แต่ที่มรดกมีมูลค่าสูง กรณีนี้อาจต้องขายที่ดินเพื่อนำมาชำระภาษีหรือไม่ ก็จะเป็นภาระของผู้ได้รับมรดกในลักษณะเช่นนี้

ทั้งนี้ นายพิชัยได้กล่าวให้กำลังใจ นางสาวศิริกัญญา พร้อมระบุว่าอยากเห็นรมต.คลังที่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศ และประสบความสำเร็จ เนื่องจากตนเองก็มีความรู้จักสนิทสนมกับนางสาวศิริกัญญา เคยพบกันในเวทีดีเบต และเคยพูดคุยกันว่าจะได้ร่วมรัฐบาลด้วยกันมาก่อน