"จตุพร" ให้คำนิยาม "ก้าวไกล"...สิ่งแปลกปลอมของนักเลือกตั้ง

27 พ.ค. 2566 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2566 | 13:47 น.
820

จตุพร พรหมพันธุ์ ย้ำ “ก้าวไกล” เป็นเสมือน “สิ่งแปลกปลอม” เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง จึงไม่มีพรรคใดอยากร่วมรัฐบาลด้วย

 

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน โพสต์ในเฟซบุ๊ก Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์ วานนี้ (26 พ.ค.) ระบุ พรรคก้าวไกล ขณะนี้เป็นเสมือน “สิ่งแปลกปลอม” ของนักเลือกตั้ง แม้ชนะเป็นพรรคอันดับหนึ่งด้วย 151 ที่นั่ง แต่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง จึงไม่มีพรรคใดอยากร่วมรัฐบาลด้วย

สิ่งแปลกปลอมอย่างพรรคก้าวไกลทำให้นักการเมืองปล้นไม่สะดวก จึงไม่มีพรรคใดอยากจับมือด้วย แต่ขณะนี้ที่ต้องจับมือกัน เพราะสังคมบีบกดให้ต้องจับมือ จึงทำตัวลู่กระแสประชาชน”

ในการไลฟ์รายการประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "ทรยศ?" ผ่านทางเฟซบุ๊ก นายจตุพรยังกล่าวเกี่ยวกับประเด็นการช่วงชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยว่า ไม่มีประวัติศาสตร์การเมืองบ่งบอกไว้แต่อย่างใด ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติให้พรรคเสียงอันดับสองต้องได้ตำแหน่งนี้ ยกเว้นแต่เป็นคนกลางอย่างนายอุทัย พิมพ์ใจชน จากพรรคก้าวหน้า ได้รับเลือกเพียง 3 เสียง แต่ได้เป็นประธานสภาฯ ในปี 2526 จากการเสนอของพรรคชาติไทยที่ได้เสียงในช่วงนั้นมาเป็นอันดับหนึ่ง 110 เสียง

ส่วน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ จากพรรคสามัคคีธรรม พรรคอันดับหนึ่ง เป็นประธานสภาฯ ปี 2535 แล้วแหวกกระแสนายกฯ เลือกตั้งช่วงการชุมนุมพฤษภา 2535 นำคนนอก ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งอย่างนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯ ซึ่งประชาชนก็เชียร์ลั่นอีก

นายจตุพร ยังกล่าวว่า กรณีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาครั้งล่าสุด (ปี 2562-2566) พรรคประชาธิปัตย์ ช่วงเลือกตั้งปี 2562 ก็มีเพียง 52 เสียงเท่านั้น เป็นพรรคอันดับสี่ โดยบริบทขณะนั้นคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค (ปชป.) ได้ลาออกรับผิดชอบที่พรรคได้เสียงน้อยลง เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนหัวหน้าพรรคใหม่ ได้เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (จากเดิมในยุคอภิสิทธิ์ ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์) ก็ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ มาแลกเปลี่ยน จึงทำให้นายสุชาติ ตันเจริญ ซึ่งอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องยอมสละมาเป็นรองประธานสภาฯอันดับหนึ่งแทน

“ความชัดเจนในช่วง 20 ปีตั้งแต่ปี 2535 มาถึงปัจจุบัน (ยกเว้นปี 2562) ไม่เคยมีประวัติศาสตร์บ่งบอกว่า พรรคร่วมรัฐบาลอันดับสอง ต้องได้เป็นประธานสภาฯ ดังนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยต้องการล้มกระดานพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จึงเป็นเกมที่ส่งสัญญาณจากคนเบื้องหลังมาหัวแถวยันปลายแถว หาเหตุอ้างถอนตัวเป็นฝ่ายค้านมาขู่เพื่อจะเอาตำแหน่งประธานสภาฯ” นายจตุพรกล่าวและว่า

“หากพรรคเพื่อไทยถอนตัวจากร่วมรัฐบาลได้จริงแล้ว คงไม่ได้เป็นฝ่ายค้านจริง แต่ที่จริงคือพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้น การหาทางหลุดออกจากพรรคก้าวไกล โดยให้สภาโหวตเลือกประธานสภาฯ ย่อมเท่ากับเป็นการสมคบทรยศพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจน และพรรคเพื่อไทยก็จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ไปครอง เมื่อพรรคก้าวไกล คือสิ่งแปลกปลอมทางการเมือง ดังนั้น ทุกพรรคจาก 188 เสียงคงเทเลือกเพื่อไทยได้ประธานสภาฯ”

ละครการเมืองฉากสองใกล้เปิดม่าน

นายจตุพรกล่าวต่อไปว่า เมื่อประธานสภาฯ มาอยู่กับพรรคเพื่อไทยแล้ว ละครการเมืองฉากสองของพรรคเพื่อไทยจะเริ่มบทแสดงด้วยหน้ามึนๆ อยู่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลตามเดิม ถัดจากนั้นจะออกอาการอึดอัด ก่อหวอดแตกแยกอีก เสมือนตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่อ้างประเทศต้องมีรัฐบาลบริหาร พรรคเพื่อไทยก็เข้าทางได้โอกาสย้ายขั้วไปอีกฟากจับมือ พปชร. กับพรรคภูมิใจไทย ตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่สำเร็จความต้องการเจ้าของพรรคที่อยากกลับบ้าน แต่คงไม่ง่ายตามสมใจหวัง เพราะพรรคภูมิใจไทยอาจไม่สบายใจ

"ดังนั้น เพื่อไทยแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯ จึงเป็นละครการเมือง เป็นการทรยศร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องทำเพราะเจ้าของพรรคสั่งให้ทำ และต่อไปกองเชียร์เพื่อไทยจะไม่อดทนกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง อีกเช่นกัน ที่ออกมาเตือนสติพรรคเพื่อไทยให้ร่วมจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล”

นายจตุพรกล่าวว่า ดูทางแล้ว เพื่อไทยหาเรื่องล้มกระดานการจัดตั้งรัฐบาลของก้าวไกลมากกว่า “พรรคเพื่อไทยไม่ได้ถูกพรรคก้าวไกลกระทำการเอาเปรียบอะไรตามที่เพื่อไทยกล่าวอ้างเป็นเสียงเดียวทุกแพลตฟอร์มสื่อสาร เพราะเพื่อไทยเป็นพรรคได้เสียงอันดับสอง และได้รับมอบกระทรวงเกรดเอไปดูแลอีกด้วย ดังนั้น การอ้างเอาเปรียบ กินรวบจึงไม่เป็นความจริง”

นายจตุพร ซึ่งปัจจุบันเป็นวิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยต้องการหาเรื่องแล้ว ทั้งที่การแบ่งครม.นำมาหาเรื่องไม่ได้ จึงมีทางเดียวคือต้องแย่งเอาตำแหน่งประธานสภาฯ ให้ได้ ดังนั้น การออกมาทุกเสียงของพรรคเพื่อไทยในเวลานี้ สัญญาณเดียวคือให้ล้มกระดานพรรคก้าวไกล