ศาลอาญาสั่งจำคุก "จตุพร พรหมพันธุ์ " 1 ปี 12 เดือน คดีนำม็อบบุกบ้านสี่เสาปี 50

18 พ.ค. 2566 | 12:08 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2566 | 13:07 น.
694

ศาลอาญาสั่งจำคุก "จตุพร" 1 ปี 12 เดือน หลังนำม็อบบุกบ้านสี่เสาปี 50 คดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 ด้านทนายเตรียมยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว 200,000 บาท ระบุยกฟ้องจำเลยที่ 2 เหตุพยานไม่ชัด

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 903 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นบ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ (สำนวนที่สอง) คดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ นายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216

ทั้งนี้ อัยการยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า  เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัย บริเวณทัองสนามหลวงไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ

เพื่อเรียกร้องกดดันให้พบ.อ.เปรม ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพวกจำเลย และกลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่า พล.อ.เปรม อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น )

เบื้องต้นนายจตุพร จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างการพิจารณา ขอ กลับคำให้การจากเดิมเป็นรับสารภาพ และได้รับการประกันตัว

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานและข้อเท็จจริง วินิจฉัยได้ว่า นายจตุพรจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการในเวลานั้น นำมวลชนเคลื่อนขบวนไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์จริง 

รวมทั้งได้พูดปลุกระดมปราศรัยโจมตี พล.อ.เปรม และปลุกระดมให้ประชาชนทำลายเครื่องกีดขวางและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันการความวุ่นวายกับคุกคามสิทธิเสรีภาพของ พล.อ.เปรม

จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานผู้สนับสนุนให้เกิดการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และสนับสนุนให้ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ต้องโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิจารณาบรรเทาโทษ ให้ลดโทษจำคุกเหลือ 1 ปี 12 เดือน

ส่วนจำเลยที่ 2 นายศราวุธ หลงเส็ง ศาลพิจารณาเห็นว่า พยานหลักฐาน ฝ่ายโจทก์ ที่กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้ขับรถพุ่งชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อนี้ยังฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก พยานบุคคลให้การไม่ชัดเจนและข้อเท็จจริงปรากฎว่า จำเลยที่ 2 เพียงแค่ขับรถเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมเท่านั้น 

ไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ หรือต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

โดยหลังอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่นำตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ ลงไปรอฟังคำสั่งคำร้องขอประกันตัวที่ห้องควบคุมตัวใต้ศาลอาญา 

นายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า เป็นไปตามที่ตนคาดหมาย ไม่ได้รู้สึกกังวลหรือหนักใจ เพราะตนเองก็ผ่านการติดคุกมาแล้วถึง 5 ครั้ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรก 

ทนายความของนายจตุพรกล่าวว่า เตรียมยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวนายจตุพร จำนวน 200,000 บาท และเตรียมยื่นต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้คดีสำนวนแรก หมายเลขดำ อ.3531/2552 พนักงานอัยการได้ฟ้องแกนนำ นปช. และผู้ชุมนุมรวม 7 ราย ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา