"พิธา"ให้สัมภาษณ์ CNN ประเทศไทยต้อง"ปลอดอิทธิพลทหาร"

18 พ.ค. 2566 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2566 | 13:59 น.
1.4 k

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวกับสื่อใหญ่ CNN เกี่ยวกับภารกิจการเปลี่ยนแปลงประเทศหากเขาขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐบาลว่า ประเทศไทยจะต้องปลอดอิทธิพลทหาร ยุติการผูกขาด และมุ่งกระจายอำนาจ

 

ในการให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกาผ่านทางรายการ Quest Means Business ความยาว 8.39 นาที นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกคนที่ 30 ของประเทศไทย กล่าวกับซาอิน แอชเชอร์ ผู้ประกาศข่าวหญิงว่า นโยบายหลักในการทำงานของรัฐบาลผสมที่จะจัดตั้งขึ้นมี 3 ประการด้วยกัน เป็นนโยบาย 3 D คือ

  • การให้ประเทศไทยปลอดอิทธิพลทหาร (demilitarize)
  • ยุติการผูกขาด (demonopolize)
  • และมุ่งกระจายอำนาจ (decentralize)

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) สื่อใหญ่ของสหรัฐผ่านทางรายการ Quest Means Business

โดยทั้ง 3 นโยบาย เป็นภารกิจหลักของรัฐบาลของเขาในระยะ 4 ปีข้างหน้า และเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อให้ระบบต่างๆกลับมาทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง และรัฐบาลของเขาจะทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่เวทีโลก มีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์

ทั้งนี้ พิธาซึ่งคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างลอยลำแม้จะยังไม่มีการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ กล่าวว่า พรรคก้าวไกล (ในชื่อภาษาอังกฤษว่า Move Forward Party) ได้เสนอการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การปรับลดงบประมาณ ทำให้กองทัพมีความโปร่งใส รับผิดชอบมากขึ้น และลดจำนวนนายพลในกองทัพลง ความสำเร็จของพรรคก้าวไกลที่ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่านโยบายเหล่านี้ไม่เพียงแต่โดนใจคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึง "คนทั้งสังคม" และขณะนี้ทางพรรคกำลังเจรจากับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม และจนถึงขณะนี้ก็ได้เสียงข้างมากเพียงพอในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว

มั่นใจและพร้อมจัดตั้งรัฐบาลผสม

CNN รายงานว่า ถึงแม้ชัยชนะของพรรคก้าวไกลและบรรดาพรรคฝ่ายค้านรวมทั้งพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนการเลือกตั้งมาเป็นอันดับสองในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นความต้องการของคนไทยที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังไม่อาจกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าผู้ชนะการเลือกตั้งจะได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพิธายังต้องฝ่าด่านการลงคะแนนของวุฒิสภา

พิธากล่าวตอบข้อซักถามของผู้ประกาศข่าวหญิงของ CNN กรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงการออกเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ในการรับรองผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีว่า

“ส.ว.ไม่ได้สามัคคีกันเหมือนเมื่อ 4 ปีก่อนที่โหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมตรี นอกจากนี้ พวกเขายังต้องคำนึงถึงประชาชนด้วย ความคิดเห็นของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญนับตั้งแต่ปี 2562 และนั่นเป็นสิ่งที่พวกเขา (ส.ว.) ต้องตระหนัก"

พิธาวัย 42 ปี ศิษย์เก่าฮาวาร์ด เชื่อมั่นว่าทางพรรคได้สื่อสารมาตลอด อธิบายมาตลอดว่ากำลังพยายามทำอะไรเพื่อประเทศชาติ และสิ่งที่จะทำนั้นมีความหมายต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างไร เขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี้ จะทำให้ด่านส.ว.ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ นอกจากนี้ "การจะทำสิ่งใดก็ตามที่คัดค้านต่อพลังเสียงของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 25 ล้านเสียง พวกคุณต้องตระหนักว่าถ้าทำอย่างนั้น คุณต้องจ่ายชดเชยแพงสาหัสเลยนะ"  

เมื่อถูกถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากกองทัพจะพยายามล้มล้างผลการเลือกตั้ง นายพิธากล่าวว่า ต้องลดความเสี่ยงของการถูกโค่นล้ม แต่ก็ต้องพร้อมเผชิญกับทุกๆสถานการณ์ แม้ตัวเขาเองไม่กังวลแต่ก็ไม่ประมาท พรรคก้าวไกลมีทีมงานที่แข็งแกร่งอยู่รอบตัว เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ตกเป็นเป้าให้ถูกโจมตีได้ง่ายๆ

พิธากล่าวว่าเขาอยู่ในแวดวงการเมืองมา 20 ปี เขามีประสบการณ์มากพอและเตรียมตัวมาอย่างดี พร้อมสำหรับการอธิบายตอบข้อกังขาต่างๆนานาที่มีต่อตัวเขาโดยเฉพาะในแง่กฎหมาย  

ข้อมูลอ้างอิง

Projected winner of Thailand’s election says he will ‘demilitarize’ country