เปิดวิธีกาบัตรเลือกตั้ง 66 แบบไหนถูก-แบบไหนผิด

13 พ.ค. 2566 | 16:22 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2566 | 22:15 น.
1.8 k

เช็คให้ชัวร์! ก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 การกาบัตร หรือการทำเครื่องหมายกากบาท (x) บนบัตรเลือกตั้ง แบบไหนถูก -ผิด แบบไหนเป็นบัตรดี - บัตรเสีย

14 พฤษภาคม 2566 เป็นวัน"เลือกตั้ง 2566"สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประชาชนชาวไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ( คนที่เกิดวันที่ 14 พ.ค. 2548 หรือเกิดก่อนหน้านั้น ) สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ในเขตพื้นที่ที่ตนเองมีรายชื่อตามทะเบียนบ้าน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.

โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อเลือกตั้งว่า มีสิทธิลงคะแนนในเขตพื้นที่ไหน และลำดับที่ในบัญชีรายชื่อ  ทางเว็บไซต์ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ( คลิกตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง ) เพียงแค่ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และกดปุ่ม “ตรวจสอบ”


 

บัตรเลือกตั้ง 2566 มีกี่แบบ สีอะไรบ้าง

การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้ผู้ลงคะแนนได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ นั่นคือ 

 

  • บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (บัตรสีม่วง) ซึ่งบนบัตรเลือกตั้งสีม่วง ไม่มีรายชื่อของ ส.ส. หรือโลโก้พรรคการเมือง มีแค่หมายเลขและช่องให้กากบาทเท่านั้น ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงต้องตรวจสอบว่าผู้ที่เราต้องการลงคะแนนเสียงให้นั้นหมายเลขอะไร ก่อนที่จะเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง
  • บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรเขียว) ใช้สำหรับเลือกเบอร์ "พรรคการเมือง" บนบัตรเลือกตั้งสีเขียว มีรายชื่อและโลโก้พรรคการเมืองต่างๆ ปรากฏอยู่แล้ว สามารถลงคะแนนเสียงให้เบอร์พรรคการเมืองที่ต้องการเลือกได้เลย โดยการเลือกตั้ง 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 67 พรรคการเมือง

 

เปิดวิธีกาบัตรเลือกตั้ง 66 แบบไหนถูก-แบบไหนผิด

เปิดวิธีกาบัตรเลือกตั้ง 66 แบบไหนถูก-แบบไหนผิด

เปิดขั้นตอนการเลือกตั้ง 2566 

  • ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบรายชื่อ

ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิทางแอปฯ Smart Vote

  • ขั้นตอนที่ 2 ยื่นหลักฐานแสดงตน

ยื่นบัตรประชาชนหรือหลักฐานแสดงตน ให้กรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางเพื่อตรวจสอบข้อมูลและยืนยันตัวตน พร้อมลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • ขั้นตอนที่ 3 รับบัตรเลือกตั้ง

รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้ว หัวแม่มือขวา บนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท โดยกรรมการประจำที่เลือกตั้งลงลายมือชื่อในต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง

  • ขั้นตอนที่ 4 เข้าคูหาลงคะแนนเสียง

ทำเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้ง แต่ละประเภท โดยสามารถเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ได้เพียงบัตรละหมายเลขเดียว หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใดหรือบัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมืองใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครผู้ใดหรือ ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด

  • ขั้นตอนที่ 5 หย่อนบัตรด้วยตนเอง

เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภท ให้เรียบร้อย และหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทให้ถูกต้องด้วยตนเอง


วิธีกาบัตรเลือกตั้ง ที่ถูกต้อง

สำหรับวิธีกาบัตรเลือกตั้งที่ถูกต้องนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องทำเครื่องหมายกาบาท หรือทำเครื่องหมาย X ลงในบัตรเลือกตั้ง ทั้ง 2 ประเภท คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ในช่องที่ระบุไว้ โดยมีรูปแบบการกาบัตรเลือกตั้งที่เป็นบัตรดี และบัตรเสีย ดังนี้

บัตรดี  

  • ต้องมีเครื่องหมายในการลงคะแนน
  • ต้องเป็นเครื่องหมาย กากบาท (x) เท่านั้น
  • เครื่องหมาย กากบาท (x) ต้องอยู่ในช่องทำ
  • เครื่องหมายต้องมีเครื่องหมายเดียวเท่านั้น


บัตรเสีย

  • บัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
  • บัตรที่ลงคะแนนเกินหนึ่งหมายเลข
  • บัตรที่ลงคะแนนในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร หรือผู้สมัครถูกถอนชื่อออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร
  • ทำเครื่องหมายนอกช่อง
  • ไม่ใช่บัตรที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบให้

 

เปิดวิธีกาบัตรเลือกตั้ง 66 แบบไหนถูก-แบบไหนผิด

 

หลักฐานแสดงตน ในการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง

"บัตรประชาชน" (บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุสามารถใช้แสดงตนได้) 

หากใครที่ทำบัตรประชาชนสูญหายในช่วงวันเลือกตั้ง ให้เลือกใช้บัตรอื่นๆ ที่หน่วยงานราชการออกให้ รวมไปถึงบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นหลักฐานในการลงคะแนนเสียงได้เช่นเดียวกัน ดังนี้

  • ใบขับขี่
  • หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต )
  • บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  • แอปพลิเคชัน ThaID (บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์)
  • แอปพลิเคชัน DLT QR LICENCE (ใบอนุญาตขับขี่อิเล็กทรอนิกส์)
  • แอปพลิเคชันบัตรคนพิการ (บัตรประจำตัวคนพิการอิเล็กทรอนิกส์)