เลือกตั้งต้องรู้ สิ่งที่ “ห้ามทำ” เมื่อเข้าคูหามีอะไรบ้าง

11 พ.ค. 2566 | 12:56 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2566 | 15:21 น.

กฎหมายเลือกตั้ง มีการระบุถึง “ข้อห้าม” หลายข้อ ที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนควรทราบเมื่อออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งบางสิ่งหลายคนอาจ “ไม่รู้มาก่อน” ว่าทำไม่ได้ เพราะเข้าข่ายผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง วันนี้ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลที่ทุกคนควรรู้มาให้แล้ว

1.แต่งกายด้วยเสื้อผ้า ที่มีโลโก้-สี-หมายเลขพรรคการเมือง 

2.โพสต์ข้อความ-ภาพ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมืองลงบนโซเชียลมีเดีย 

เพราะ 2 ข้อนี้ เข้าข่าย "โฆษณาหาเสียง" ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง (มาตรา 79) ห้ามกระทำภายในช่วงระยะเวลาก่อนเลือกตั้ง 1 วัน จนจบวันเลือกตั้ง"  (ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.2566 จนจบวันที่ 14 พ.ค.2566)

หากฝ่าฝืน “มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท" หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 156)

3.ถ่ายรูปในคูหา หรือถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองลงคะแนนแล้ว 

 ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเสียงแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองได้ลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด (มาตรา 99) หากฝ่าฝืน "มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท" หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 165)

4.เอาบัตรประชาชนของคนอื่น/ปลอมแปลง ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ ผู้ที่อายุไม่ถึง 18 ปี, ภิกษุ สามเณร หรือนักบวช, ผู้อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และวิกลจริต ฟั่นเฟือน

กฎหมายห้ามไม่ให้บุคคลดังกล่าว ใช้สิทธิเลือกตั้งโดย แสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐาน "ที่เป็นของคนอื่น" หรือ "ที่ปลอมแปลง" ขึ้นมา (มาตรา 94) รวมถึง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแต่ใช้สิทธิเลือกตั้งใน "เขตที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์"

หากฝ่าฝืน "มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000- 200,000 บาท" หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 158)

 5.ทำเครื่องหมายเป็นจุดสังเกตในบัตรเลือกตั้ง

ห้ามจงใจทําเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดก็ตามไว้ที่บัตรเลือกตั้ง (มาตรา 96) หากฝ่าฝืน "มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 -100,000 บาท" หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (มาตรา 164) 

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง พึงระวังการกาเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้ง จะต้องกาเป็นรูปกากบาท (X)ในช่องที่ต้องการ 1 ช่องเท่านั้น หากเขียนเป็นสัญลักษณ์อื่นอาจถูกนับว่าเป็น “บัตรเสีย”

ที่มาภาพ : กกต.
 

6.นำบัตรเลือกตั้ง ออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง

ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นําบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง (มาตรา 95 วรรคสอง) หากฝ่าฝืน "มีโทษจำคุกตั้งแต่  1-5 ปี  หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท" หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (มาตรา 164)

7.ขัดขวาง-หน่วยเหนี่ยว ไม่ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ห้ามไม่ให้ผู้ใดขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวจนทำให้ผู้ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปถึงหน่วยเลือกตั้งได้ หรือไปใช้สิทธิไม่ทันเวลา (มาตรา100)  หากฝ่าฝืน "มีโทษจําคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 -100,000 บาท" หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 10 ปี  (มาตรา 164)

กรณี "นายจ้างขัดขวางไม่ให้ลูกจ้างไปเลือกตั้ง" มีโทษหนักกว่านั่นคือ "จําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท" หรือทั้งจําทั้งปรับ (มาตรา 142)

8.จำหน่าย-แจกสุราในเขตเลือกตั้ง

ห้ามไม่ให้ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่ 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้ง จนถึง 18.00 น.วันเลือกตั้ง (ตั้งแต่ 13 พ.ค.2566 เวลา 18.00 น. ไปจนถึง 14 พ.ค.2566 เวลา 18.00 น. )

หากฝ่าฝืน "มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท" หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 147)

9.พนันขันต่อผลการเลือกตั้ง

 ห้ามเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆ ที่เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง หากฝ่าฝืน "มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1- 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท" หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนด 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น  (มาตรา 148)

 10.เปิดเผยโพลสำรวจความเห็นช่วง 7 วันก่อนเลือกตั้ง

 ห้ามเปิดเผย หรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดหีบลงคะแนน (7 พ.ค. 2566 -14 พ.ค. 2566)  หากฝ่าฝืน "มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท" หรือทั้งจำทั้งปรับ