วัฒนธรรมสร้างชาติ ความหวังฟื้นประเทศไทยกับรัฐบาลใหม่ หลังเลือกตั้ง 66

04 พ.ค. 2566 | 10:20 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2566 | 11:09 น.

รองศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สะท้อนมุมมองผ่านบทความ "วัฒนธรรมสร้างชาติ ความหวังฟื้นประเทศไทยกับรัฐบาลใหม่ หลังเลือกตั้ง 66" โดยมีรายละเอียดดังนี้

รายการมองรัฐสภาเมื่อเช้านี้ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง เจ้าของสโลแกน ลูกชาวบ้าน หลานชาวนา จากจังหวัดอุทัย สิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา และเจ้าของรายการวัฒนธรรมสร้างชาติ รายการที่เน้นการนำเสนอความโดดเด่นของชาติด้านวัฒนธรรม ทางช่อง 9 MCOT HD30 ได้มาเป็นแขกรับเชิญในรายการ หัวข้อ ส่องนโยบาย Soft-Power พลังวัฒนธรรมสร้างชาติ

ได้เห็นความเหน็ดเหนื่อยและความตั้งใจที่จะผลักดันยุทธศาสตร์วัฒนธรรมสร้างชาติของแขกรับเชิญ และได้ฟังกลยุทธ์ในการทำงานของท่านแล้ว  เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หากรัฐบาลหลังเลือกตั้งปี 2566 นี้ จะให้ความสำคัญและนำเรื่องวัฒนธรรมเป็นยุทธศาสตร์สร้างชาติอย่างจริงจัง 

วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ใช้สร้างชาติ เป็นมรดกของชาติ ดังนั้น ยุทธศาสตร์วัฒนธรรมสร้างชาติ จะมีรายละเอียดที่ทำให้เราเห็นยุทธศาสตร์ที่มีทั้ง Input-Process-Output (I-P-O) ในความคิดของอดีต สว.สิงห์ชัย ทุ่งทอง เจ้าของแนวคิด มีความสมบูรณ์สูงมาก  จะเห็นได้ว่าการพัฒนาประเทศ หรือยุทธศาสตร์การพัฒนา จะมีเรื่องของปัจจัยสนับสนุนทางสังคม (Input -I) และกระบวนการ (Process-P)  อย่างเป็นด้านหลัก  

กล่าวอย่างง่ายก็คือการอาศัยวัฒนธรรมไทย วิถีไทย มาเป็นพลังในการขับเคลื่อน เป็นการมองอย่างนักยุทธศาสตร์ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลหลังเลือกตั้งไม่ควรมองข้ามไป เพราะวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือปั้มรายได้เข้าประเทศได้อย่างงาม 
 

สิ่งที่ต้องการเห็นคือ การสร้างมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน และบูรณาการวิธีการสร้างการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสื่อสารไปสู่นานาชาติให้มากขึ้น  

รองศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล  อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

รัฐควรจะต้องเข้ามาส่งเสริมและส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการร่วมกันกับประชาชน เสริมสร้างความชำนาญแก่ประชาชน สนับสนุนสิ่งอำนวยสะดวก หรือแม้แต่เข้ามาดูแลขั้นตอนต่าง ๆ ให้ง่ายและใช้ระยะเวลาสั้นขึ้น ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไทยได้รวดเร็ว ปลอดภัยมากขึ้น  

เปิดโอกาส สร้างและหรือขยายโอกาสให้ประชาชนในชุมชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ หรือเป็นต้นฉบับภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้สามารถต่อยอดวัฒนธรรมสู่การสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ทำการค้าการขาย การดำเนินธุรกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่จะต้องทำโดยเร่งด่วน นี่น่าจะเป็นมุมมองหนึ่งที่ทำให้มองว่าวัฒนธรรมสร้างชาติได้อย่างไร 

มองมุมมนี้จะเห็นว่าความมั่นคง ความมั่งคั่งของชาติ เกิดจากการที่ประชาชนมีรายได้ มีอาชีพทำมาหากินได้สะดวก หากินได้คล่อง เมื่อประชาชนสามารถหากินเลี้ยงชีพด้วยวิถีวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างมั่นใจ  

ที่แน่นอน วัฒนธรรมท้องถิ่นมีความหลากหลายทีเดียวสำหรับวัฒนธรรมไทย เพราะมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต้องถือว่าเป็นมรดกทางชาติพันธุ์ที่มีการอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอดของวิถีชีวิตเป็นประเพณี พิธีกรรม เทศกาล กิจกรรมงานต่าง ๆ มากมาย ให้เข้าไปเยี่ยมชม

และสัมผัสกลิ่นอายทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า ประเทศไทยของเรา วิถีไทยของเรามีความเป็นอันซีนมากที่สุดของโลกประเทศหนึ่งทีเดียว และการที่อำนวยความสะดวก หรือการส่งเสริมวัฒนธรรมเหล่านี้ของชุมชน จะเป็นตัวสร้างเงิน สร้างรายได้ และสร้างชาติให้มั่นคั่งได้ไปพร้อมกัน

 

เห็นได้ว่า วัฒนธรรมสร้างชาติ จะต้องถูกนำมาบรรจุไว้ในนโยบายแห่งรัฐว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม อย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเคยทำมาแล้ว ทำอยู่ หรือจะทำต่อก็ตาม วัฒนธรรมสร้างชาติ ถือว่าในเวลานี้เป็นโอกาสทองที่จะสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา

ในแง่เศรษฐศาสตร์ จะเห็นว่าวัฒนธรรมเป็นทุนทางสังคมที่มูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก ถ้ามีการระบบบริหารจัดการวัฒนธรรมให้สามารถเป็นเครื่องมือทำมาหากินแก่คนในชุมชนต่าง ๆ ได้เศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรมของไทยเราจะมูลค่าสูง สามารถดีดตัวเลขGDP ให้กระจายถึงชุมชน จะเกิดประโยชน์แก่คนในพื้นที่เจ้าของวัฒนธรรมได้ 

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารายได้ประเทศมาจากการท่องเที่ยวนั่นสูงทุกปี  นี่สะท้อนว่าวัฒนธรรมมีความสำคัญ อาหาร ที่พัก แหล่งท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดและต้องส่งเสริมนวัตกรรมวัฒนธรรมแก่ชาวบ้าน และสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐและชุมชนต้องมีความรู้สึกคุณค่าและหวงแหนวัฒนธรรมด้วย ต้องคิดว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน รัฐและชุมชนต้องขับเคลื่อนด้วยกัน

วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่การเจียระไน คือกระบวนการสร้างมูลค่าวัฒนธรรมให้สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ชุมชนเจ้าของภูมิปัญญาในท้องถิ่น ปราชญ์ทางวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่นั้น ต้องทำให้เกิดนวัตกรรมวัฒนธรรม ด้วยการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพลตฟอร์มใหม่ที่สามารถตอบสนองกับการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศภายในทุนทางวัฒนธรรม เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยุคใหม่อย่างแท้จริง

หมายความว่า ต้องช่วยให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถเข้าถึงเครื่องมือ และระบบสารสนเทศของชาติได้ การมีเพลตฟอร์มวัฒนธรรมชาติโดยชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับเป็นความจำเป็น เป็นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วนเช่นกัน  เรื่องนี้เป็นนโยบายที่จะสร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์วัฒนธรรมแห่งชาติมีความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว  

ในรายการวัฒนธรรมสร้างชาติ ที่แขกรับเชิญ ท่านอดีต สว.สิงห์ทอง ทุ่งทอง รายการออกอากาศทางช่อง 9 มากว่า 3 ปีกว่า 100 กว่าตอน นั้น มีตัวอย่างของวัฒนธรรมที่ได้รับการเจียระไนหลายตอน ตัวอย่างเช่น ช้างป่าทุ่งนเรศวร เป็นการสะท้อนให้เราเห็นว่าวัฒนธรรมนั้น กินได้ คือ วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่จะสร้างรายได้ มีเงินจับจ่ายใช้สอยเลี้ยงชีวิตได้ หากรู้จักการบริหารจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม ที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องช้างป่าทุ่งนเรศวร นี้ ปัญหาคือการอยู่ร่วมกันระหว่างช้างกับคน เมื่อชุมชนมองว่าพื้นที่ทางวัฒนธรรมนั้น เราจัดสรรปันส่วนให้มีความเหมาะสมได้ด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้าน ด้วยภูมิปัญญาของคน เพราะคนไม่สามารถแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดจากกันระหว่าง คน สัตว์ สังคม สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ต้องอาศัยกันและกัน เราต้องอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลาย โดยอาศัยการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเป็นการจัดการวัฒนธรรมเพื่อชีวิต

ดังนั้น คน ธรรมชาติ สัตว์ ป่า ความหลากหลายพรรณพืชที่มีอยู่รอบตัว เราต้องเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในสังคม  ต้องมองให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับการใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างสมดุล การอยู่ร่วมกันอย่างแบ่งปัน จะสามารถปันสุข สร้างรายได้ ทำให้ทุกวิกฤติเป็นโอกาสของชุมชนได้เสมอ 

หากจะมองย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีต จะเห็นว่าวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อสังคมไทยเรื่อยมา ตั้งแต่ หลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2475 วัฒนธรรมเป็นวิสัยทัศน์แรกที่ผู้นำมองเห็น และนำมาเป็นนโยบายแห่งรัฐที่จะแสดงให้เห็นว่าประเทศมีความเจริญ ทันสมัย  ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมใช้สร้างชาติในทางการเมือง ที่เริ่มการสร้างชาติเชิงอุดมการณ์รัฐชาติ  วัฒนธรรมช่วยจัดระเบียงทางสังคม การมีวินัยสังคม และขยายกว้างขึ้นเป็นวัฒนธรรมในรูปของอุดมคติชีวิต  

การนำวัฒนธรรมมาสร้างมาตรฐานการปกครองบ้านเมือง ส่งเสริมค่านิยมสุจริต การเป็นคนดีที่มีการฝึกใจให้มีวัฒนธรรม  แต่ด้วยระยะเวลาและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เคยริเริ่มไว้ ผ่านไปเกือบร้อยปี นั้น มีปัจจัยหลายอย่างทำให้ถูกลดระดับคุณค่าลงไปตามกาล เวลา 
 
การฟื้นฟูสังคมไทย ให้ทันสมัยและมีความมั่นคง ตามโมเดลยุทธศาสตร์วัฒนธรรมชาติ กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อวัฒนธรรมสร้างชาติ ถูกนำมาตีแผ่ในรูปของสารคดีเชิงวัฒนธรรม ที่ออกอากาศในรายการวัฒนสร้างชาติ ทางช่อง 9  ขณะนี้ได้เกิดกระแสเป็นไวรัลทางสังคมที่พูดกันปากต่อปาก  โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ชูนโยบายวัฒนธรรมเพียงผิวเผิน ในเคมเปญ รณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งปี ’66  ต้องหันหลังกลับ360 องศา อีกครั้ง กับแนวคิดยุทธศาสตร์วัฒนธรรมสร้างชาติ ที่จะเป็นทีเด็ดฟื้นเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมกินได้ และวัฒนธรรมสร้างชาติ

ในฐานะที่วัฒนธรรมเป็น Soft-Power ทางเศรษฐกิจที่สามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วม โดยไม่ต้องบังคับหรือให้เงิน หากแต่เป็นการเจียระไนรูปแบบชีวิตวิถี ที่เป็นจุดแข็งในสังคมไทย ให้เพียงพอและเป็นจุดแข็งที่เป็นจุดขาย ในการสร้างรายได้เข้าประเทศ

สำหรับโลกสมัยใหม่ที่มีกระแสความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงขณะนี้ กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาประเทศต้องมีนโยบายสาธารณะที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม  ปัจจุบันยอมรับกันว่ามีพลังการเปลี่ยนแปลงและสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสังคม เศรษฐกิจ และประชาชน อยู่ 3 ประการ ที่คือ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ ในปัจจัยทั้งสามเรื่องนั้น จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมเป็น Soft-Power เป็นเรื่องแรกที่มีพลังที่สุดในแง่ของการเป็นทุนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและความมั่นคงแก่มนุษย์ 

มีคำอธิบายอย่างง่าย ประการแรกพลังวัฒนธรรม ก็คือว่าถ้าวัฒนธรรมของประเทศ มีความสอดคล้องกับผลประโยชน์และค่านิยมของประเทศอื่น ๆ โอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็น soft power ของประเทศนั้นก็จะมีมากขึ้น ช่องทางที่ทำให้วัฒนธรรมของประเทศหนึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศอื่น ๆ นั้นมีมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการค้า การเยี่ยมเยือน การติดต่อสื่อสาร และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

โดยเฉพาะการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกลุ่มเยาวชนอย่างที่ทางองค์การสหประชาชาติพยายามทำเรื่องนี้มาหลายปี ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(United Nations Development Programme)  หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการ UNDP ของสหประชาชาติ 

โดยหน่วยงานนี้เน้นการพัฒนา การสนับสนุน ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs  สำหรับประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย ภาคประชาสังคม ภาคีเครือข่ายการพัฒนา เพื่อหาแนวทางแก้ไขความท้าทายในการพัฒนาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่สอง พลังค่านิยมทางการเมือง  จะเห็นว่าการที่ประเทศมีนโยบายที่เป็นค่านิยม ทางการเมืองที่สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ soft power ของประเทศนั้นจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าค่านิยมของประเทศดังกล่าวขัดกับค่านิยมของประเทศอื่น ๆ อย่างชัดเจน soft power ของประเทศนั้นก็จะลดลง

ตัวอย่างเช่น แนวคิดการแบ่งแยกสีผิว ในทศวรรษที่ 1950 ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ส่งผลทำให้ soft power ของสหรัฐอเมริกาในกลุ่มทวีปแอฟริกา ลดลงอย่างน่าใจหาย

ประการที่สาม พลังนโยบายต่างประเทศ จะพบว่าถ้าประเทศ ดำเนินนโยบายที่หน้าไหว้หลังหลอก ก้าวร้าว และหรือไม่แยแสต่อท่าทีของประเทศอื่น ๆ โอกาสที่จะสร้าง soft power จะมีน้อย ดังเช่นเมื่อปี ค.ศ. 2003 ประเทศอิรักถูกสหรัฐอเมริกาบุก  โดยมีหลายประเทศไม่เห็นด้วย เป็นต้น ในทางกลับกัน ประเทศที่มีนโยบายต่างประเทศชัดเจนในเรื่องสร้างสันติภาพและให้ความสำคัญต่อหลักสิทธิมนุษยชน โอกาสที่ soft power จะเติบโตได้ก็มีมากตามไปด้วย

หากพิจารณาเงื่อนไขสามประการข้างต้น จะพบว่าประเทศไทยเรามีจุดแข็งในทุกข้อ นี่หมายความว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์วัฒนธรรมสร้างชาติ ได้ เป้าหมายของการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์วัฒนธรรมสร้างชาติ จะส่งผลให้ชาติมีความมั่นคง ประชาชนมีความมั่งคั่งการพัฒนาประเทศบนฐานวัฒนธรรมจะนำไปสู่การสร้างประเทศที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

วัฒนธรรมสร้างชาติ ยุทธศาสตร์สร้างคน ต้องขับเคลื่อนวัฒนธรรมให้สามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ คือ

1.การนำวัฒนธรรมมา สร้างคน ให้มีคุณภาพ มีคุณธรรม ให้มีทัศนคติที่ต่อชาติบ้านเมือง ต่อระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของตนเอง สร้างพลเมืองที่มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง เป็นพลเมืองที่คิดดี ทำดี พูดดี เป็นการใช้กลยุทธ์สร้างชาติด้วยวัฒนธรรมด้านจิตใจซึ่งสถาบั้นทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว อาชีพ เพื่อน และสถาบันทางศาสนามีหน้าที่ร่วมกันในการขัดเกลาสมาชิกทางสังคม

ผลลัพธ์ที่ได้คือเราจะได้พลเมืองที่มีวินัย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน เป็นค่านิยมทางสังคม เป็นฐานราก เป็นบ้านที่มีพื้นแข็งแรง ที่จะส่งผลให้สังคมประเทศชาติมีความมั่นคง ไปด้วยเช่นกัน

2.การนำวัฒนธรรมมา สร้างชาติโดยยกระดับวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน ท้องถิ่นทั่วประเทศมาเจียระไนด้วยภูมิปัญญาไทยร่วมสมัย  สร้างการรับรู้ การสื่อสารแพร่เรื่องราววัฒนธรรม  ในมิติต่าง ๆ  ออกไปสู่สังคมไทยและสังคมโลก ทำการตลาดให้วัฒนธรรมมีชีวิตคือสร้างความสนใจให้คนมาดู มาเที่ยวมากิน มาสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมของเรา

ตรงนี้คือวัฒนธรรมกินได้ ตรงนี้คือวัฒนธรรมสร้างรายได้ วัฒนธรรมจะกลายเป็นทุนของชุมชน พี่น้องประชาชนจะอยู่ได้ภายใต้การเจียระไนจุดแข็งของตัวเอง ทำวัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตของเขาให้เกิดคุณทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่เขา ความรัก ความภูมิใจในอัตลักษณ์ที่หลากหลายของคนในพื้นที่ต่าง ๆ กลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ

นี้คือความพิเศษของการเจียระไนที่มีมากมายบนผืนแผ่นดินไทย และนี่คือต้นทุนที่เราจะนำมาสร้างชาติ ให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตและอยู่ได้ไม่เดือดร้อน ส่งผลให้ประเทศพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาประเทศด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม หากขับเคลื่อนได้เร็ว จะสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน  สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจฐานราก

ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมจะเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงที่บริสุทธิ์แก่สังคมได้วัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจได้อย่างไร  เป็นคำตอบที่ต้องเชื่อมโยงกับการดำเนินนโยบายแห่งรัฐด้วย ตัวอย่างเช่น รัฐต้องยกระดับการท่องเที่ยวและการบริการ ทำให้เข้มขึ้น ให้สะอาด ปลอดภัย สะดวก ปลอดภัย ไม่มีชกชิงวิ่งลาว

ต้นทุนที่สำคัญคือความเป็นคนไทย   ส่งเสริมให้มีวิสาหกิจชุมชนเชิงวัฒนธรรม มีการผลิตสินค้าเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวปรับให้ง่าย สะดวก ปลอดภัย สะอาด ทั้ง อาหาร ที่อยู่อาศัย การบริการของร้านค้า หมายความว่าตัวผลิตภัณฑ์ที่อยู่กับการท่องเที่ยว สินค้า อาหาร อาภรณ์เครื่องประดับ ต้องจัดการอย่างเป็นระบบ ชุมชนมีภูมิปัญญาท้องถิ่น รัฐต้องเข้าไปช่วยส่งเสริม อย่างเช่นช่องทางการตลาดดิจิทัล หรือตลาดดออนไลน์ชุมชน รัฐต้องมีส่วนในการที่จะ เชื่อมต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ชุมชนมีความสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองสู่มาตรฐานการขายสินค้าวัฒนธรรมระดับสากลได้

คงต้องจับตาว่าหลังเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ปี’66  หลัง 14 พฤษภาคม นี้แล้ว ความหวังที่ยุทธศาสตร์วัฒนธรรมสร้างชาติ จะเป็นกลยุทธ์ที่จะประคับประคองรัฐบาลชุดใหม่ ให้เดินหน้าประเทศไทยไปอย่างรวดเร็ว นำมาฟื้นประเทศไทยได้มากน้อยเพียงไร  

ผู้นำรัฐบาลและเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์วัฒนธรรมสร้างชาติ ให้ถูกบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา เป็นวาระของชาติได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องคอยจับตากันต่อไป

 แต่ในเชิงนโยบายนั้น มองอย่างเร็วคือวัฒนธรรมสร้างชาติ เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องจำเป็น และเป็นยุทธศาสตร์ที่มาเหมาะกับเวลา คือหลังฟื้นประเทศจากภัยพิบัติโควิด-19 แต่การทำเรื่องนี้ ที่มีจุดกำเนิดจากรายการวัฒนธรรมสร้างชาติ ที่ อดีต สว. สิงห์ชัย ทุ่งทอง ขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้ เป็นสิ่งที่สามารถต่อยอดทำได้ทันที เพียงแต่ผู้นำรัฐบาล เอาจริง คือทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ทำให้วัฒนธรรมที่คนมองไม่เห็นในอากาศ มาสู่การจับต้องได้ ทำให้วัฒนธรรมมาอยู่ในมิติของประชาชน และประชาชนอาศัยวัฒนธรรมทำให้ปากท้องอิ่ม นอนหลับ หนี้สินลดลง ประชาชนมีสุขภาวะดี สุขภาพจิตแข็งแรงขึ้น อันนี้ ประเทศชาติไปได้

ทิศทางรัฐบาลใหม่ที่จะได้เห็น อีกไม่เกิน 15 วัน ข้างหน้า ต้องรออีกสักอึดใจ ประชาชนจะได้รับการเหลียวแลและได้รับการสนับสนุนให้มีความแข็งแรงด้วยทุนของชุมชนท้องถิ่นอย่างไรหรือไม่ และรัฐบาลชุดใหม่ จะมองเห็นความสำคัญวัฒนธรรม ในแง่เป็นทุนมนุษย์ เป็นทุนทางสังคมที่มีพลัง ที่จะสร้างประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนร่วมกันได้มากน้อยเพียงไร 

เพื่อให้อนาคตที่ดีเป็นของทุกคน สร้างไทยให้น่าอยู่ เพื่อไทยทุกคนด้วยกัน ขอให้เราร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์วัฒนธรรมสร้างชาติ ให้เป็นยุทธศาสตร์สร้างคน สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ร่วมมือกันเพื่อประเทศไทยคุณภาพ พึ่งพาตนเองได้ด้วย Soft-Power คือวัฒนธรรมไทย วิถีไทย ด้วยกันครับ