ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ “รอด" ประเทศไทย “รอด”

03 ส.ค. 2564 | 18:48 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2564 | 02:01 น.
1.2 k

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ “รอด " ประเทศไทย “รอด” โดย... สิงห์ชัย ทุ่งทอง รายการ “วัฒนธรรมสร้างชาติ” กรรมการสภาสถาปนิก อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุทัยธานี

เมื่อปฏิทินขยับเข้าเดือนสิงหาคม 2564  ในฐานะผู้ดำเนินรายการวัฒนธรรมสร้างชาติ และทีมงานได้มาอาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ต ครบ 2 เดือน 14 วันพอดิบพอดีเลยครับ

 

สาเหตุหลักที่ทำให้รายการวัฒนธรรมสร้างชาติ มาปักหลักอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตนานนับแรมเดือนก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่ง ในการมีส่วนร่วมช่วยบ้านเมืองในสถานการณ์วิกฤติ "โควิด-19” ต้องการเผยแพร่ความงดงามของภูเก็ต ภายใต้ประเด็น “ภูเก็ต...ในวิกฤติมีโอกาส” ด้วยหวังประชาสัมพันธ์ “ภูเก็ต” ให้กลับมาเป็นดินแดนแห่งการท่องเที่ยว  และหวังให้ผู้ชมได้มองเห็น ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มากด้วยคุณค่า และมูลค่าเรื่องการท่องเที่ยวในทุกมิติความงาม ทั้งศิลปะ ประเพณี วิถีชีวิต รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งเเวดล้อม ที่กลับมาอุดมสมบูรณ์เต็มที่อีกครั้ง หลังมีเวลาพักฟื้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 นานนับแรมปี 

 

จากการที่มีโอกาสอยู่ภูเก็ตตั้งแต่ก่อนเปิดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” นานกว่าเดือน และพำนักอาศัยอยู่ที่ภูเก็ตหลังจากเปิดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ต่ออีกเดือนกว่าๆ ได้สัมผัสเมืองภูเก็ตทั้งในค่ำคืนที่รกร้างจากนักท่องเที่ยว และวันที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวทยอยกันเข้ามาเที่ยวภูเก็ต ทำให้เข้าใจความรู้สึกคนภูเก็ตได้อย่างลึกซึ้ง

 

ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา สนใจบ้านเมือง การได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่บนเกาะภูเก็ตยาวนานที่สุดในชีวิตการเดินทาง ทำให้มองเห็นประเด็นสำคัญๆ ที่ทบทวนดูแล้วว่า ถ้าเขียนถึง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อ ชาวภูเก็ต ต่อบ้านเมืองมากกว่าจะนิ่งเฉย จึงขอนำเสนอสิ่งที่มองเห็นเป็นส่วนตัว ต่อเพื่อนร่วมชาติ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เกี่ยวกับโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  เพื่อสะท้อนมุมมองคิด และประสบการณ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

 

เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจประเด็นที่ผมกำลังเขียนถึงชัดขึ้น ผมขอใช้คำใหญ่เลยนะครับ แม้คำที่ใช้อาจดูโอเว่อร์วังไปบ้าง แต่ผมมองอย่างนั้นจริงๆ

 

“ทางรอดของประเทศ  คือโอกาสของ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  

 

ทำไมผมต้องใช้คำนี้ ก็เพราะวันนี้ประเทศไทยไม่ได้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเหมือนก่อนวิกฤติโควิด-19 

 

อย่างยิ่ง จากจังหวัด”ภูเก็ต” เเละอันดามัน ที่เคยสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับหนึ่ง  และ “เป็นส่วนหนึ่งของรายได้สำคัญ ที่ถูกนำไปพัฒนาประเทศ”
 แม้จะยังมีข้อถกเถียงในสังคมเรื่อง “ล็อกดาวน์” หรือ “ไม่ล็อกดาวน์” จากกลุ่มคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยก็ตามที

 

แต่ในความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่า เราคงไม่สามารถตอบได้ว่า “ล็อกดาวน์” หรือ “ไม่ล็อกดาวน์” อย่างไหนดีกว่ากัน เพราะทั้ง 2 อย่าง จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป เเละรัฐต้องตระหนักว่า มนุษย์ ต้องกิน ต้องมีวิถีชีวิต การล็อกดาวน์ขอให้เป็นวิธีสุดท้าย เเละเเบ่งเป็นให้เป็นส่วนย่อยที่สุด หลีกเลี่ยงในวงกว้าง เช่น “ล็อกดาวน์”เป็น คลัสเตอร์ แคมป์คนงาน โรงงาน หรือพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง เป็นส่วนๆ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ และดูแล

 

ขณะเดียวกันพื้นที่ที่ “ไม่ล็อกดาวน์” วงกว้างเช่นเมือง จังหวัด ต้องมีการบริหารจัดการพิเศษ ไม่ควรใช้ระบบปกติ

 

ภูเก็ตคือตัวอย่างหนึ่งของการเปิดเมือง “ภูเก็ต Sandbox”  เป็นโครงการที่ “จำเป็น” และ “สำคัญ” ต่อประเทศชาติ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี “พล.เอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”เห็นความสำคัญ จึงได้เดินทางมาเปิดงานเพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจให้ชาวภูเก็ต รวมถึงคนไทยทั้งประเทศด้วยตัวของท่านเอง

 

จากการเฝ้าสังเกต และตระเวนไปทั่วทั้งเกาะ ผมต้องชื่นชมครับว่า การเปิดเกาะภายใต้โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  เป็นการตัดสินใจที่ “กล้าหาญ” ของภาครัฐ เพราะหาก“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” รอด ประเทศไทย “รอด” ในความเห็นผม
แต่ก็ยังอดเป็นห่วง และกังวลเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ไม่ได้ครับ

 

พร้อมกันนี้ก็ต้องขออนุญาตแสดงความคิดเห็นต่อท่านผู้อ่าน และฝากถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านว่า ภูเก็ต และ อันดามัน เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีทั้ง “ศักยภาพ”และ “ความพร้อมในทุกมิติ” นอกจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก “ภูเก็ต” ยังมีลักษณะทางกายภาพเป็นเกาะซึ่งมีพื้นที่ไม่มาก ขณะที่สังคมภูเก็ตยังไม่ซับซ้อนมากนัก

 

ที่สำคัญ นักธุรกิจระดับนำเป็นคนภูเก็ต ยังเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ซึ่งเอื้อต่อการบริหารจัดการ เท่าที่ผมมีโอกาสได้พบปะผู้คน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการ รวมถึงผู้อาวุโสต่างๆ ก็ยิ่งเห็นถึงความพร้อมในแง่ของภาคเอกชน ที่มากด้วยประสบการณ์ และองค์ความรู้ จาก 2 สถาบันการศึกษาหลัก ทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์( ม.อ.)ภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ภูเก็ต ซึ่งทำหน้าที่ซัพพอร์ตให้จังหวัด


 จริงอยู่เรื่องนี้อยู่ภายใต้อำนาจการบริหารจัดการของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ทุกวันนี้ “ท่านณรงค์ วุ่นซิ้ว” ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ท่านทำงานหนัก และเหนื่อยมากนะครับ ด้วยเครื่องมือ และองคาพยพที่ท่านมีอยู่ ผมเชื่อว่าท่านสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่าลืมนะครับว่า เรื่องที่ท่านแบกรับเต็มสองบ่าคือ “ทางรอดของประเทศ” 
 

ผมขออนุญาตถามครับ “เราใช้ท่านหนักเกินไปไหม ? 

 

ถึงตรงนี้โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” จะสามารถสร้างรายได้มากน้อยแค่ไหนไม่ใช่ใจความสำคัญครับ แต่ขอแค่ให้ได้เปิด ขอให้ได้เข้า ได้เริ่ม และขอให้ได้มีการทดลองการจัดบริหารจัดการ ภายใต้ “สถานการณ์พิเศษ” หรือ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” แล้วแต่ท่านจะเรียก ตรงนี้ต่างหาก เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องทำให้ลุล่วงสำเร็จ

 

ขณะที่ผมนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ (วันที่ 3 สิงหาคม 2564) วันที่โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เปิดครบเดือน กับ 3 วัน เท่าที่ติดตามอ่านข่าวเกี่ยวกับภูเก็ต มีหลากหลายมุมมองในการนำเสนอบนโลกโซเชียล ทั้งที่มีสำนักยืนยันตัวตนชัดเจน และเป็นเพียงบอกกล่าวเล่าแชร์ หรือส่งต่อๆกันมา พบว่าภาษาข่าวที่สื่อสารออกไปยังคลุมเครือขาดความชัดเจน และอาจนำมาซึ่งความสับสนต่อนักท่องเที่ยว และชาวภูเก็ต “นี่เป็นหนึ่งประเด็น ที่ผมยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างนะครับ”
 ฉะนั้นหากต้องการให้ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  เป็นโมเดลสำคัญของประเทศ “ภูเก็ตรอด ประเทศรอด”จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการมากกว่าการบริหารจัดการแบบปกติ 

 

ผมขอย้ำนะครับ วันนี้นโยบาย “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” มาถูกทางครับ และยังไม่สายครับ หากจะมีการตั้งทีมบริหารเฉพาะกิจ มอบหมายเป็นวาระเเห่งชาติ มีรองนายกฯ หรือ รมต.ขึ้นมาบริหารจัดการ 3-6เดือน ผลักดันนโยบายนี้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ 

 

ผมขอเขียนย้ำในย่อหน้านี้อีกทีครับว่า หนึ่งเดือนหลังจากที่เปิดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ยังไม่มีอะไรน่ากังวลมากนัก แต่การจะอยู่ร่วมกับสถานการณ์ “โควิด-19”เเละการก้าวเดินต่อไปข้างหน้าคือ เรื่องสำคัญ เเละ “พลาดไม่ได้เด็ดขาด”

ดังที่ผมตั้งประเด็น “ภูเก็ตรอด ประเทศรอด” จึงอยากให้รัฐมีนโยบายชัดเจน มีการบริหารจัดการ และการขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพ “มีเจ้าภาพ” ผมเชื่อว่า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เริ่มต้นที่ภูเก็ตนั้นถูกต้อง และหากสำเร็จ จะเป็นกำลังใจ แรงจูงใจ ขยายต่อไปยังอันดามัน และภูมิภาคต่างๆ ได้ไม่ยากครับ

 

แต่ “จุดแข็ง”ของภูเก็ตที่ผมเขียนถึง ก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นความ “เปราะบาง” ได้เช่นกัน หากขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสมเเละชัดเจน 

 

อย่าลืมว่า เมืองท่องเที่ยวสำคัญๆทั่วโลก   ที่ได้รับผลกระทบต่างก็กำลังจับตามองโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  อย่างใจจดจ่อ เพราะถ้าภูเก็ต และอันดามัน ประสบความสำเร็จ โครงการนี้ก็จะเป็นกรณีศึกษา และเป็นโมเดลให้กับแหล่งท่องเที่ยวทั่วไทย รวมถึงเมืองท่องเที่ยวทั่วโลก

 

ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้น ผมเห็นว่าต้องมี “เจ้าภาพ” ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะต้องยอมรับว่านี่คือ “วิกฤติ”   ที่ไม่สามารถทใช้การบริหารจัดการแบบปกติได้อีกต่อไป ผมขอวิงวอนให้รัฐบาล ตั้งทีมเฉพาะกิจ เพื่อรองรับวิกฤติครั้งนี้ครับ