SCB EIC: วิเคราะห์ 5 ฉากทัศน์จัดตั้ง “รัฐบาลใหม่”ใครจะมา ผลต่อศก.ไทย

04 พ.ค. 2566 | 09:09 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2566 | 09:25 น.
869

SCB EIC กาง 5 ฉากทัศน์จัดตั้ง “รัฐบาลใหม่” ประเมินไม่มีสูตรจัดตั้งรัฐบาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% การเปลี่ยนผ่านรัฐบาล คาดกระทบศก.ไทยช่วงไตรมาส 4 จากความไม่แน่นอนระยะเวลาพิจารณาอนุมัติงบฯปี 67

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC เผยแพร่บทวิเคราะห์ เรื่องการจัดตั้งปี 2023 ฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และนัยต่อการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ รายละเอียดดังนี้

 

  • การเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2023 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ อีกทั้ง ยังมีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณและนำเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาก่อนการยุบสภา นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
  • ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 จากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้ง นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2024
     
  • เศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
    โดยหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้อย่างราบรื่นจะส่งผลให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2024 ได้อย่างเต็มที่ ในทางตรงกันข้ามหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่นอาจส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มต้องปฏิบัติหน้าที่นานเกินสมควร อีกทั้ง ประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ได้อย่างล่าช้ามากจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ
     

SCB EIC: วิเคราะห์ 5 ฉากทัศน์จัดตั้ง “รัฐบาลใหม่”ใครจะมา ผลต่อศก.ไทย

ฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่

SCB EIC ระบุว่า หากพิจารณาผลสำรวจแนวโน้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2023 ของหลายหน่วยงาน พบว่า ฝ่ายเสรีนิยมมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมสูงกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาก โดยฝ่ายเสรีนิยม 2 พรรคที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้รับความนิยมรวมกันมากถึง 68-84% ของผู้ตอบสำรวจทั้งหมด  อย่างไรก็ดีผลสำรวจมีแนวโน้มที่จะสะท้อนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้แม่นยำกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายเขต ส่งผลให้ผลสำรวจสะท้อนว่าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงรายพื้นที่มีแนวโน้มที่จะได้รับเลือกตั้งในสัดส่วนที่สูงกว่า ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวนี้ SCB EIC ได้ประเมินฉากทัศน์ของผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไว้ 5 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 : ฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สูงกว่า 250
เสียง) และอาจรวมตัวกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนไว้แต่ยินดีจะเข้าร่วมด้วย ประกอบกับอาจได้รับเสียง จากสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ทำให้มีคะแนนเสียงรวมกันเกิน 375 เสียง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ซึ่งจะช่วยให้การประกาศใช้พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าไม่มาก 3-4 เดือน แต่กรณีนี้มีโอกาสเกิดชุมนุมทางการเมืองขนาดเล็ก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลางและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

SCB EIC: วิเคราะห์ 5 ฉากทัศน์จัดตั้ง “รัฐบาลใหม่”ใครจะมา ผลต่อศก.ไทย

 

กรณีที่ 2 : รัฐบาลผสมสองฝ่าย ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เกิน 250 เสียง)แต่ยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ (ต่ำกว่า 375 เสียง) ฝ่ายเสรีนิยมบางส่วนจึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางส่วนตกลงจัดสรรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้อย่างลงตัวทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมสองฝ่ายได้ ในกรณีนี้แม้รัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุนจากทั้งฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา แต่อาจไม่มีความแข็งแกร่งในการบริหารราชการแผ่นดินมากนัก เนื่องจากทั้งสองพรรคมีแนวความคิดที่แตกต่างกันหลายด้าน การประกาศใช้พ.ร.บ.
งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 อาจล่าช้าไม่นาน 3-4 เดือน แต่กรณีนี้มีโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่สูงกว่ากรณีอื่น เนื่องจากอาจขัดกับหลักการที่พรรคการเมืองสื่อสารหาเสียงไว้หรือขัดกับหลักการที่ประชาชนกลุ่มฐานเสียงแต่ละฝ่ายต่างยึดมั่น ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลาง แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ขึ้นกับความรวดเร็วในการจัดตั้งรัฐบาลและการตอบรับของประชาชน


กรณีที่ 3 : รัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สูงกว่า 250 เสียง) ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพรรคการเมืองที่ไม่ได้แสดงจุดยืนชัดเจนไว้แต่ยินดีจะเข้าร่วมด้วย รวมตัวกันได้เสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง 250 เสียง แต่เมื่อรวมกับเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมาก ส่งผลให้มีคะแนนเสียงรวมเกิน 375 เสียง ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในกรณีนี้รัฐบาลจะมีความเปราะบางสูง และมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ลบหลายเรื่อง เช่น การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าเกิน 3-4 เดือน หรือไม่สามารถออกใช้ได้ ความเสี่ยงต้องจัดการเลือกตั้งใหม่สูง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีความเสี่ยงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้งกรณีนี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ อาจประวิงเวลาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายอื่นเข้าร่วมกับฝ่ายตน จนฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีรัฐบาลรักษาการนานเกินควร นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลางและจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยสูงที่สุด
 

กรณีที่ 4 : ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้เสียงข้างมากจากทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สูงกว่า 250 เสียง) และสมาชิกวุฒิสภา (รวมมีคะแนนเสียงเกิน 375 เสียง) จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีความแข็งแกร่งในการบริหารราชการแผ่นดินสูงจากเสียงสนับสนุนจากทั้งฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ทำให้การประกาศใช้พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าเพียง 3-4 เดือน แต่มีโอกาสเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดเล็ก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดน้อยและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

 

กรณีที่ 5 : นายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( เกิน 250 เสียง) แต่ยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้(ต่ำกว่า 375 เสียง) ฝ่ายเสรีนิยมบางส่วนจึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางส่วน ซึ่งคล้ายกับกรณีที่ 4 แต่ไม่สามารถตกลงจัดสรรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้อย่างลงตัว ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้รัฐบาลรักษาการจึงต้องบริหารราชการแผ่นดินเป็นเวลานานเกินควรและจำเป็นต้องเลือกบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ส่งผลให้รัฐบาลใหม่มีความเปราะบางสูง และการประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 อาจล่าช้าเกิน 3-4 เดือนไปมาก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดน้อยและจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย

 

SCB EIC: วิเคราะห์ 5 ฉากทัศน์จัดตั้ง “รัฐบาลใหม่”ใครจะมา ผลต่อศก.ไทย

โดยสรุปการเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในปี2023 จะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 อีกทั้งเศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินหาเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้งแต่ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี2023 เนื่องจากมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติพ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ขณะที่ผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจยังมีไม่มากนัก อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการจัดทำงบประมาณปี 2024 โดย SCB EIC ประเมินว่าไม่มีฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% แตกต่างจากบริบทการเลือกตั้งในปี 2019 ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สูงอย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนสูงอีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างท่วมท้น

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า ฉากทัศน์กรณีฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล กรณีรัฐบาลผสมสองฝ่าย และกรณีรัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ทั้ง 3 ฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นในระดับปานกลางใกล้เคียงกันมาก  สำหรับอีก 2 ฉากทัศน์กรณีฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล และกรณีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่บ้าง

นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยุบสภา การเลือกตั้ง และการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลตามที่วิเคราะห์ข้างต้นแล้ว นโยบายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้นำเสนอไว้ก่อนการเลือกตั้งนับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาระการคลัง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นนโยบายมหภาคที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดย SCB EIC จะเผยแพร่บทวิเคราะห์ตอนต่อไปหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/election-030523

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : วิชาญ กุลาตี([email protected])  นักวิเคราะห์