ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ อาสา”ทลายทุนผูกขาด” แก้ค่าไฟมหาโหด

19 เม.ย. 2566 | 19:05 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 20:55 น.
1.6 k

ขณะที่คนไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตจากอากาศที่ร้อนแทบตับแตก ซ้ำค่าไฟพุ่งพรวดจนตั้งตัวไม่ทัน "ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์" ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 1 เจ้าของสโลแกน" บูมเบอร์ 5! ประหยัดไฟ อาสาทลายทุนผูกขาดด้านพลังงาน เพื่อให้ค่าไฟลดลง เขาจะทำอย่างไร!ไปติดตามกันเลย

“บูม ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ ”ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต เขต 1 (ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร สัมพันธวงศ์) พรรคก้าวไกล  อดีตนักเรียนจบกฎหมายภาคภาษาจีนจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นครเซี่ยงไฮ้  

ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไทย-จีน และเป็นคณะทำงานวิเทศสัมพันธ์ ไทย-จีน ของพรรคก้าวไกล   กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงแนวทางแก้ปัญหาไฟฟ้าราคาแพงที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในขณะนี้ว่า 

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำสัญญารับซื้อไฟกับโรงไฟฟ้าเอกชนจำนวนมาก โดยที่ไม่คำนึงถึงภาษีที่เราต้องนำไปจ่ายให้เอกชนรายใหญ่ที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ปัจจุบันเรามีไฟผลิตไฟสำรองมากถึง 60%  ซึ่งตามมาตรฐานสากล 15 % ก็พอแล้ว 

การผลิตไฟฟ้าต้องสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศนั้นๆด้วย ถ้าเศรษฐกิจเราเป็นช่วงขาขึ้น มีคนมาลงทุนเยอะแยะ ไม่แปลกเลยถ้าเราจะทำเผื่อไว้ แต่ด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจปัจจุบันนี้ เราไม่ควรมีไฟฟ้าผลิตสำรองเกิน15 เปอร์เซ็นต์ ผมให้เต็มที่ 20 %  แต่ปัจจุบันแทบจะแตะ 60 % อยู่แล้ว

นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์

 ปารเมศ บอกว่า ล่าสุด ครม. ทิ้งทวนเซ็นไปอีก 3,600 เมกะวัตต์  ไม่ใช่เงินน้อยๆเลย สุดท้ายแล้วเงินเหล่านี้ก็คือเงินภาษีประชาชนที่นำไปจ่ายกับโรงไฟฟ้าเอกชน  ที่ผ่านมานี้โดยเฉพาะช่วงโควิด-19  มีเงื่อนไขสัญญาหนึ่งที่เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย หรือค่า AP  เป็นการการันตีให้กับเจ้าของโรงไฟฟ้าว่า ต่อให้เขาผลิตหรือไม่ผลิต รัฐบาลต้องนำภาษีไปจ่าย

ช่วงโควิดปีนั้นจ่ายไป 8,000 ล้านบาท  โดยที่ครึ่งหนึ่งของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ IPP ไม่ได้เดินเครื่องแม้แต่วันเดียว แต่เราต้องเอาเงินภาษีไปจ่าย 8,000 ล้านบาท   ซึ่งเงินเหล่านี้สุดท้ายก็นำไปบวกในค่า FT  ที่ปรับขึ้นเรื่อยๆ แล้วมาเก็บกับประชน ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ประชาชน

  • แนะทบทวนแผนการผลิตพลังงาน

ปารเมศ บอกว่า สิ่งที่ต้องทำ คือ หนึ่ง ต้องทบทวนแผนการผลิตพลังงานของประเทศเรา  เรียกว่าแผน PDP   ซึ่งแผนนี้จะมีการกำหนดระยะสั้น ระยะยาว ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง การใช้ไฟช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของประเทศไทย ปีที่ผ่านมาคือ 33,000 เมกกะวัตต์  แต่เราผลิตได้กว่า 50,000 เมกกะวัตต์ ไฟเหล่านั้นเท่ากับโยนทิ้งลงน้ำเลย แล้วนำต้นทุนที่จ่ายให้เจ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนนำมาบวกค่า FT ทำให้ต้องปรับขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการซื้อไฟขึ้นเรื่อยๆโดยที่ไม่มีความจำเป็น 

ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์

สิ่งที่ก้าวไกลเสนอคือ ต้องไปทบทวนแผนว่า ความเติบโตของประเทศไทยเป็นอย่างไร  ไม่ใช่สั่งซื้อไฟเซ็นสัญญาสัมปทานให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่เรื่อยๆ ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง  
สอง สัญญาที่เซ็นไปแล้วในฐานะรัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย  โดยที่ไปทบทวนสัญญาใหม่ ไปเจรจาใหม่กับโรงไฟฟ้าเอกชน 

“ผมอยู่ในอนุกรรมการเชิญกระทรวงพลังงานมา เชิญกรมต่างๆมาไม่ว่า ก๊าซธรรมชาติ  เยอะไปหมด สุดท้ายตัวแทนเหล่านี้ก็บอกว่ารับนโยบายมา หรือสัญญาเซ็นไปแล้วทำอะไรไม่ได้ แต่ในหน้าที่รัฐบาลที่ต้องปกป้องผลประโยชน์คนไทยมีหน้าที่เต็มที่ จะเปิดเวทีก็ได้ต้องไปเจรจากับเจ้าของโรงไฟฟ้าเอกชน ว่าสถานการณ์บ้านเราเป็นแบบนี้ค่าไฟแพงเกิน ไม่ใช่อ้างว่าเซ็นไปแล้วทำอะไรไม่ได้  ยิ่งเป็นช่วงโควิด ประชาชนไม่เหลือเงินในกระเป๋าเลย ช่วงที่ลงพื้นที่ค่าไฟสูงมากประมาณ 30 -40 % แต่หน่วยที่ใช้ลดลง”

อันนี้เป็นปัญหาทุนผูกขาดด้านพลังงาน  ที่เราต้องไปแก้ไข การเซ็นสัญญารับซื้อไปในอนาคต จะต้องมีภาคประชาชนมีส่วนร่วม  ไม่ใช่คุณถืออำนาจรัฐ แล้วไปเซ็นสัญญารับซื้อไฟอยู่เรื่อยๆโดยไม่คำนึงถึงภาวะปัจจุบันว่าไฟเราเกินมามากพอแล้ว

ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ อาสา”ทลายทุนผูกขาด” แก้ค่าไฟมหาโหด

  • หนุนใช้โซล่าเซลล์

ปารเมศ ชี้ว่า ก้าวไกลสนับสนุนให้ใช้พลังงานสะอาด ตอนนี้แผนโซล่าเซลล์ ต้นทุนต่ำมาก คุณภาพ และประสิทธิภาพดีกว่าแต่ก่อนมาก ต้นทุนเมื่อเทียบกับ10 ปีที่แล้วถูกลงกว่าร่วม 50 % ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม แต่ตอนนี้ติดที่กระบวนการขอใช้แผงโซล่าเซลล์  

ตอนนี้พลังงานสะอาดยังไม่เสรีเท่าที่ควร ถ้าเสรีจริงหน่วยงานภาครัฐอย่างกฟน. หรือ กฟภ.ควรลดขั้นตอน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ต้องไปขอใบอนุญาต ซึ่งการขอใบอนุญาตยุ่งยากมาก กว่าเจ้าหน้าที่จะนัดคิวมาตรวจสอบ ต้องติดมิเตอร์เพิ่มเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งต่างประเทศการติดโซล่าเซลล์ได้ง่ายมาก ต้องลดขั้นตอนการขออนุญาต กลายเป็นช่องโหว่ในการเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐ 

ปารเมศ ยืนยันว่า การใช้โซล่าโซลล์ ถ้าใครเปิดแอร์กลางวัน จะคุ้มมาก สามารถคืนทุนภายใน 5-6 ปี  พรรคก้าวไกล มีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานโซล่าเซลล์แสงอาทิตย์ เข้าใจว่ายังไม่ตกผลึกในการปล่อยกู้ดอกเบี้ยในการซื้อแผงโซล่าเซลล์ในราคาดอกเบี้ยต่ำ ที่เราสนับสนุนเพราะประชาชนไม่ไหวแล้วกับค่าไฟปัจจุบัน 

ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ อาสา”ทลายทุนผูกขาด” แก้ค่าไฟมหาโหด
 

  • อาสาทลายทุนผูกขาด ปราบคอร์รัปชัน

ปารเมศ เล่าถึงประสบการณ์จากจีนที่อยากนำมาปรับใช้ในประเทศไทยว่า  ชื่นชอบการทุจริตคอรัปชั่น เหตุผลหนึ่งที่ทำไมกลุ่มทุนจีนสีเทาทีเราเห็นตอนนี้ มาอยู่ในไทย เพราะเขาอยู่จีนไม่ได้  ต้องชื่นชมเขาทำได้ดีจนพวกทุนจีนสีเทาอยู่ไม่ได้ ไม่ว่า บ่อน ซ่อง ยาเสพติด  สมัยเรียนอยู่จีนยังพอมี แต่เดียวนี้ไม่มีเลย  คุมเข้มมาก ทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาเกี่ยวกับการปราบคอร์รัปชั่น 

ตั้งแต่ประธานาธิบดี “สี จิ้น ผิงสีจิ้น” ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง 10 ปีที่ผ่านมา จับข้าราชการระดับนายพล ระดับรัฐมนตรี เข้าคุกเป็น1,000คนแล้ว  รวมทั้งระดับผู้ว่า  ถ้าเป็นข้าราชการ ก็ระดับ ผู้อำนวยการ หรืออธิบดี เข้าคุกไปเป็นหมื่นเป็นแสนคน แล้วกวาดไล่ธุรกิจสีเทา แทบทั้งประเทศเลย 

ปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ อาสา”ทลายทุนผูกขาด” แก้ค่าไฟมหาโหด

สองเรื่องการทลายทุนผูกขาด ปัจจุบันประเทศจีนใหญ่ก็จริง แต่ไม่ให้ใหญ่เกิน กฎหมายบังคับใช้เรื่องทุจริตคอร์รัปชันทำได้ดีกว่าเรา  เช่น บริษัทอาลีบาบา ของแจ็คหม่า หรือบริษัทอื่นๆที่ใหญ่เกิน รัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายไม่ให้ใหญ่เกินไป ไม่ให้กินสัดส่วนการตลาดเกิน 51 % ต้องแบ่งให้คนอื่นด้วยไม่งั้นจะเป็นการผูกขาด ถ้าเป็นองค์กรเอกชนเขาทำได้ดีมากในการทลายทุนผูกขาด 

สองสิ่งนี้เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ เพราะประเทศเราปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมาก   8 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำโตขึ้นตามสัดส่วนประชากร และเศรษฐกิจ เราน่าจะอยู่ในลำดับต้นๆแซงรัสเซียมาแล้ว คนรวยก็รวยเหลือเกิน เจ้าสัวบางคนถือครองที่ดิน 6 แสนกว่าไร่  ขณะที่ประชากรคนไทย 70 % ไม่มีที่ดินของตนเองแม้แต่หนึ่งตารางวา 

“ถ้าเราไม่ทำวันนี้แล้วจะทำวันไหนจะปล่อยให้นายทุนกินรวบประเทศไทยอีกหรือ”เป็นการทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดไม่น้อย