จับตา ประชาธิปัตย์ตั้งโต๊ะแถลงอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้าน แบบไม่ต้องกู้ พรุ่งนี้

09 เม.ย. 2566 | 11:44 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2566 | 14:14 น.
724

พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมตั้งโต๊ะแถลงนโยบายเศรษฐกิจ ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง 2566 สร้างความเข้าใจประชาชน ทุกวันจันทร์ และวันศุกร์ นำร่องพรุ่งนี้ 10 เม.ย. 2566 วันแรก ชี้แจงวิธีอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้าน แบบไม่ต้องกู้

นายเกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปพรรคประชาธิปัตย์จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวเพื่ออธิบายนโยบายเศรษฐกิจของพรรคที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนทุกวันจันทร์ และวันศุกร์ โดยจะเริ่มแถลงครั้งแรกในวันพรุ่งนี้ 10 เมษายน 2566

นโยบายเศรษฐกิจที่พรรคประชาธิปตย์จะแถลงครั้งแรก เป็นเรื่องของการหารายได้ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินนโยบาย ด้วยการอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยไม่ต้องกู้ ไม่สร้างภาระทางการเงินการคลังของประะเทศ  ด้วยการดึงเงินที่มีอยู่ในกองทุนของหน่วยงานต่างๆที่ไม่ได้ใช้จ่ายมาใช้ดำเนินนโยบายหาเสียงของพรรคในช่วงเลือกตั้ง 2566 ด้วยการออกตราสารหรือพันธบัตร

อีกนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ คือ การปลดล็อค กบข. กองทุกเลี้ยงชีพ ให้สามารถนำเงินสะสม 30% มาซื้อบ้าน รีไฟแนนซ์หนี้ได้ เพื่อให้สมาชิกทั้ง 2 กองทุน ทั้งข้าราชการและผู้คนที่ทำงานเอกชน รวมไปถึงผู้ใช้แรงงาน มีบ้าน ลดภาระดอกเบี้ย มีความมั่นคงในชีวิตระยะยาว

ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า ในวันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น. ทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ จะแถลงข่าวประเด็น “อัดฉีดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ใครได้อะไร”  นำโดยนายนิพนธ์ บุญญามณี ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ และทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีต ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ หม่อมราชวงศ์ศศิพฤนท์ จันทรทัต ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์
 

สำหรับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้ภายใต้สโลแกน สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ ทำได้ไวทำได้จริง โดยพรรคได้ประกาศ 16 นโยบาย ประกอบด้วย

16 สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์

1. ประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด

2. ชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน

3. ธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท

4. อินเตอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้าน ทุกห้องเรียน  ซึ่งทุกหมู่บ้าน หมายถึงชุมชนในเขตเมือง เขตเทศบาล เขตหน่วยการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งในพื้นที่ชุมชนของกรุงเทพมหานครด้วย

5. เรียนฟรีถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ  จากการสำรวจของ อว. พบว่ามีสาขาที่ตลาดต้องการ มีอยู่อย่างน้อยจำนวน 1.8 แสนคน ประมาณ 12 สาขาสำคัญ

6. ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน  เเพื่อพัฒนาเด็ก และให้เกษตรกรที่เลี้ยงโคนม สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคนมให้กับเด็กไทย หลังจากที่ได้ทำมาแล้ว 280 วัน

7.  ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี ใช้บัตรประชาชนใบเดียว  ถือเป็นการต่อยอดนโยบายเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ทำมาตั้งแต่อดีต

8. SME ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน  ตั้งกองทุน 300,000 ล้านบาท เพื่อให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน แหล่งทุน สำหรับนำมาขยายกิจการ

นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง 2566 พรรคประชาธิปัตย์

9. ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน-ชุมชน  ปัจจุบันประเทศไทยมีชมรมผู้สูงอายุที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 30,000 ชมรม

10. ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงภายใน 4 ปี  ให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน และอยู่ในที่รกร้างว่างเปล่า

11. ออกกรรมสิทธิ์ทำกินให้ผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ

12.  ประมงท้องถิ่นรับ 100,000 บาททุกปี  ประมงท้องถิ่นทั้ง 2,800 กลุ่ม จะได้รับจัดสรรงบประมาณ กลุ่มละ 100,000 บาทต่อปี ทุกกลุ่ม เพื่อพัฒนาศักยภาพ ให้มีความเข้มแข็งในตัวเอง หล

13. ปลดล็อคประมงพาณิชย์ภายใต้ IUU  หลังจากพี่น้องชาวประมงได้ร้องเรียนว่ามีความเดือดร้อน ซึ่งการปลดล็อค จะต้องอยู่ภายใต้ IUU กับนานาประเทศ

14. ปลดล็อค กบข. กองทุกเลี้ยงชีพให้ซื้อบ้านได้ สมาชิกทั้ง 2 กองทุนสามารถนำเงินส่วนหนึ่งมาซื้อบ้าน หรือนำมาลดหนี้บ้าน  ซึ่งจะช่วยทั้งข้าราชการและผู้ที่ทำประกันสังคม รวมไปถึงผู้ใช้แรงงาน

 15. 3 ล้านบาทต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่  เกษตรแปลงใหญ่ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10,000 แปลง มีเกษตรกรเข้าร่วม 5 แสนราย ในพื้นที่กว่า 8 ล้านไร่ เป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาการเกษตรของประเทศ ลดต้นทุน เป็นการร่วมกันใช้เทคโนโลยี

16. ค่าตอบแทน อกม. 1,000 บาท/เดือน  ให้กระทรวงเกษตรฯ มี “อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน” ไปช่วยดูข้อมูล และประสานงานในระดับหมู่บ้าน และครัวเรือนที่ทำการเกษตร

นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง 2566 พรรคประชาธิปัตย์

นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังมีนโยบายแก้ปัญหา พลังงาน ด้วยการปรับลดค่าการกลั่น ค่าเอฟที ลดต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนทางการเงินด้วยการลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการปรับโครงสร้างภาษี ให้ประเทศไทยมีต้นทุนภาษีนำเข้า

ขณะเดียวกันยังมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้วยความเก่ง เร่งหาจุดแข็งอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยตั้งเป้าหมายเราต้องเป็น R&D Hub ของประเทศ สถาบันทางการเงินต้องเข้าส่งเสริม SMEs โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีกฎหมายรองรับและไม่ขัดต่อกติกาโลก รวมถึงรัฐบาลจะต้องเก่งในเรื่องการเจรจาต่างประเทศ  ต้องมีนักเจรจาที่ทันโลกทันเกม

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวปรายศัยตอนหนึ่งระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ที่ จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่า โยบายของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแนวนโยบายเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ แตกต่างจากพรรคอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นแนวประชานิยม   ความแตกต่างอันหนึ่งก็คือประชาธิปัตย์ ไม่ได้เน้นเรื่องนโยบายแจกฟรี แต่เน้นนโยบายในการหาเงินให้กับประเทศ

 "นโยบายแจกเงินมันไม่ยั่งยืน หลายพรรคอาจจะเน้นนโยบายเรื่องของการแจกเงิน บางพรรคอาจจะเน้นถึงขั้นแจก แล้วสุดท้ายก็ยอมรับว่าเอาเงินมาจากการไปขึ้นภาษีจากประชาชน ถ้าเป็นอย่างนั้นสุดท้ายประชาชนก็กลายเป็นห่าน ที่จะโดนถอนขนจนเกลี้ยงในที่สุด เพื่อมาสนองนโยบายพรรคการเมือง อันนี้ก็คือสิ่งที่เราต้องรู้เท่าทัน แล้วก็ต้องระมัดระวังว่าสุดท้ายแล้วกรรมจะตกอยู่กับใคร ถ้ามีนโยบายฉาบฉวยในลักษณะนี้สำหรับนโยบายของประชาธิปัตย์นั้น เราต้องการสร้างเงินให้ประเทศจริงๆ และมีแนวทางที่ชัดเจน ไม่เกี่ยวพันกับเรื่องที่จะต้องไปขูดรีดภาษีเพิ่มเติมจากประชาชน  "