"ปชป."ชู 3 นโยบายเรือธง ตั้งเป้าเศรษฐกิจเติบโตอย่างน้อย5%

29 มี.ค. 2566 | 09:51 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2566 | 10:03 น.

"อลงกรณ์"เปิดนโยบายเศรษฐกิจ ปชป. ตั้งเป้าเศรษฐกิจเติบโตอย่างน้อย5% ภายใต้ 3 นโยบายเรือธง ระบบเศรษฐกิจใหม่ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้าน และแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก1ล้านล้านบาท

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงถึงผลการประชุมว่าด้วยแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคกับทีมเศรษฐกิจวันนี้ (29มีนาคม) ว่า พรรคประชาธิปัตย์กำหนดกรอบนโยบายเศรษฐกิจบน 3 นโยบายเรือธง(Flagship Policy)ได้แก่

 1.เศรษฐกิจฐานราก
พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเนื่องจากเป็น2ภาคเศรษฐกิจที่เป็นศักยภาพของประเทศโดยเฉพาะเกษตรถือเป็นดีเอ็นเอ.( DNA)ของประเทศครอบคลุมสาขาพืช ประมง และปศุสัตว์

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวรวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME)ซึ่งเป็นธุรกิจสร้างงานสร้างอาชีพใหญ่ที่สุดของประเทศ
ตลอดจนการยกระดับภาคแรงงานในทุกสาขาซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
 

"ปชป"ชู 3 นโยบายเรือธง ตั้งเป้าเศรษฐกิจเติบโตอย่างน้อย5%

2.เศรษฐกิจมหภาค 
ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนไม่น้อยกว่า5%ต่อปีมุ่งกระจายรายได้กระจายความเจริญลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาตลาดทุนยุคใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและ12อุตสาหกรรมใหม่(12 S-Curves)

รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ทั้งระบบขนส่งมวลชน ระบบราง ระบบถนน ระบบขนส่งทางน้ำและทางอากาศภายใต้ยุทธศาสตร์เขื่อมไทย เชื่อมโลก ตลอดจนการปูทางสร้างโอกาสด้วยความตกลงการค้าเสรี(FTA-Mini-FTA)โดยเฉพาะความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค(RCEP)

3.เศรษฐกิจทันสมัยหรือเศรษฐกิจอนาคต
พรรคประชาธิปัตย์เร่งวางรากฐานใหม่ให้ประเทศโดยสร้าเครื่องยนต์ตัวใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้แก่เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)เศรษฐกิจสูงวัย(Silver Economy) เศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)และเศรษฐกิจคาร์บอน(Carbon Economy) เป็นต้น

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

“ ระบบเศรษฐกิจใหม่คือเครื่องยนต์แห่งการเติบโต(New Growth Engines) ที่จะยกระดับเพดานรายได้ใหม่ของประเทศและคนไทยให้สูงขึ้นเนื่องจากระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมไม่มีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกต่อไปและไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ 
 

ประการสำคัญที่สุดคือ ประเทศต้องการการลงทุนใหม่ๆและรายได้ใหม่ๆในช่วง4ปีข้างหน้า  ขอให้มั่นใจว่าเราทำได้เพราะทำมาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลได้พิสูจน์มาแล้วว่าสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออก4ปีที่ผ่านมากว่า30 ล้านล้านบาทเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว”

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ภายใต้สถานการณ์การชะลอตัวและความถดถอยทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทีมเศรษฐกิจจึงได้วางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาทจากนโยบายธนาคารหมู่บ้านธนาคารชุมชน การปลดล็อคกบข.และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนสตาร์ทอัพ-เอสเอ็มอี.เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้นทีมเศรษฐกิจยังได้พิจารณาแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างศักยภาพใหม่ให้ประเทศอีก1 ล้านล้านบาทภายใต้ยุทธศาสตร์ สร้างเงินสร้างคนสร้างชาติซึ่งจะได้แถลงให้ทราบในโอกาสต่อไป