ราชบุรี พลังประชารัฐปะทะภูมิใจไทย จับตา"รทสช."หลัง"ลุงตู่"ลงพื้นที่

13 มี.ค. 2566 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2566 | 17:27 น.
1.1 k

จับตาสนามเลือกตั้งเมืองโอ่ง หลัง "บิ๊กตู่"ลงพื้นที่ตรวจราชการ คึกคักทั้ง 5 เขต พลังประชารัฐ- ภูมิใจไทย ชิงพื้นที่เดือด ผู้สมัครชิงไหวชิงพริบลงพื้นที่ต่อเนื่อง พราะคู่แข่งแต่ละคนโปรไฟล์ไม่ธรรมดา

บรรยากาศหาเสียงเมืองโอ่งเพิ่มสีสรรอีกครั้ง หลัง "ลุงตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ลงพื้นที่ตรวจราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี  ครั้งนี้เรียกเสียงฮือฮา เมื่อมีการขึ้นป้ายต้อนรับขนาดใหญ่ เป็นภาพพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมข้อความระบุว่า ชาวบ้านโป่งยินดีต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาตรวจราชการโครงการขนาดใหญ่ 8 โครงการงบประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท

งานนี้  "อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์" ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่  และเตรียมจะย้ายมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กุลวลี นพอมรบดี อดีตส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ  พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร อดีตส.ส.นครปฐม พรรคประชาธิปัตย์ และนายมานิจ นพอมรบดี กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ 

  สนามราชบุรี พลังประชารัฐ ปะทะภูมิใจไทย  จับตา "รทสช."หลัง"ลุงตู่"ลงพื้นที่

จังหวัดราชบุรี มี 10 อำเภอ 5 เขตเลือกตั้ง มีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งได้กว่า 800,000 คน ส.ส.เดิมทั้ง 5 เขต ได้แก่ เขต 1 น.ส.กุลวลี นพอมรบดี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เขต 2 นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา พรรค พปชร. เขต 3 “ส.จ.เส็ง” นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เขต 4 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ พรรค ปชป. เขต 5 นายบุญลือ ประเสริฐโสภา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.)

 ลองดูเขต 1 " กุลวลี นพอมรบดี"ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ ซบพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ"ลุงตู่"  คู่แข่งยังเป็นคนหน้าเดิม คือ" เพียงเพ็ญ   ศักดิ์สมบูรณ์" ซึ่งเป็นน้าสะใภ้ เคยลงแข่งเมื่อสมัยที่ผ่านมาในนามพรรคภูมิใจไทย และ "นพดล  ภู่แย้ม"  เจ้าของธุรกิจส่งออกวุ้นมะพร้าว 100 ล้าน ที่มาลงสมัครชิงเก้าอี้ ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย ทำให้พื้นที่นี้จึงมีการแข่งขันกันสูง

เขต 2 "บุญยิ่ง นิติกาญจนา" ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 66 ก็ยังไม่มีทีท่าว่าย้ายไปพรรคไหน  แต่อาจถูกดิสเครดิตจากเรื่องการครอบครองพื้นที่ทำธุรกิจ แต่ในเขตนี้ยังไม่มีใครที่มาเปิดตัวลงแข่ง  

หลัง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ลงทุนบุกถึงบ้านสยบข่าวย้ายพรรค โดยจะลงป้องกันแชมป์เจอกับ ยงยุทธ ผลเอนก อดีตนายก อบต.หนองกระทุ่ม จากพรรค ภท. ได้รับการสนับสนุนจาก นายนภินทร ศรีสรรพางค์ และ ถปนัท หรือ ยุพา ชาติไทย จะลงสมัครในนามพรรค ปชป.


 

สนามราชบุรี พลังประชารัฐ ปะทะภูมิใจไทย  จับตา "รทสช."หลัง"ลุงตู่"ลงพื้นที่

เขต 3  นั้นเดิมตำแหน่ง ส.ส.เป็นของ ปารีณา ไกรคุปต์  จากพรรคพลังประชารัฐ  แต่ถูกศาลตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะเรื่องการครอบครองพื้นที่ป่าในการทำธุรกิจฟาร์มไก่ ส่งให้การเลือกตั้งซ่อม ชัยทิพย์  กมลพันธุ์ทิพย์  หรือ สจ.เส็ง จากพรรคประชาธิปัตย์ คว้าเก้าอี้ผู้แทนไปครอง

ในเขตนี้ ปารีณา ส่งพี่ชายเข้าประกวด คือ สีหเดช ไกรคุปต์ นายก อบต. บางตโตนด ลงทวงเก้าอี้ ส.ส. ในการเลือกตั้งปี 66 นามพรรคภูมิใจไทย


นอกจากนี้ จตุพร กมลพันธุ์ทิพย์ รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี  ซึ่งเป็นหลานชายของ ชัยทิพย์  จะมาลงสมัครชิงเก้าอี้ ส.ส. ในเขตนี้ ขณะที่ ชัยทิพย์ จะไปลงสู้ศึกในเขต 5 แทนนามพรรคพลังประชารัฐ  ดังนั้น เขตนี้จึงสูสี เพราะมือใหม่หัดขับทั้งคู่ 
 

นายสีหเดช -น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์

ส่วนเขต 4  อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าปี 66 โยกย้ายไปลงพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ"ลุงตุ่"  

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่ง "ธนากร เลี้ยงฤทัย" อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองบ้านโป่ง เป็นนักการเมืองท้องถิ่นหลายสมัย เข้ามาชิงชัยในครั้งนี้เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ทสท. ส่ง “รองเอ๋” ชิตพล เชี่ยวอุดมทรัพย์ อดีตรองนายกเทศมนตรีห้วยกระบอก อ.บ้านโป่ง  เขต นี้แนวโน้ม ส.ส.เก่าเหนื่อยแน่ เพราะคู่แข่งแต่ละคนเทียบโปรไฟล์ล้วนไม่ธรรมดา

นายบุญลือ ประเสริฐโสภา


และเขต 5 แชมป์เก่า "บุญลือ ประเสริฐโสภา" ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ครอบครองพื้นที่มายาวนาน  โดยสลับกันนั่งเก้าอี้ ส.ส.ระหว่าง พี่ชาย คือ บุญดำรง   ประเสริฐโสภา ซึ่งในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ บุญลือ นั้นลงก็สมัครในนามพรรคภูมิใจไทย 

โดยมี สจ.เส็ง ที่โยกจากเขต 3  ข้ามมาลงในเขตนี้ แข่งกับ บุญลือ โดย ชัยทิพย์ นั้นเตรียมย้ายพรรคไปอยู่กับพลังประชารัฐ
เขตนี้ยังมีตัวแปรอย่าง "ปวันรัตน์ เอกอัครอัญธรณ์" น้องหมิว ลูกสาว นายชัยโรจน์ เอกอัครอัญธรณ์ หรือ ส.จ.ใหญ่ ว่าที่ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้คะแนนเปลี่ยนแปลงไปทางทิศใดเป็นที่น่าจับตาดู