กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนๆ แรง เมื่อบิ๊กทีวีดิจิทัล ไล่เรียงตั้งแต่ นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบ ดิจิตอล (ประเทศไทย) เข้าร่วมแสดงจุดยืนรักษาคลื่น 3500 MHZ โดย นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นำคลื่นความถี่ 3500 MHz ออกมาประมูล
เนื่องจากว่า คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมยังมีเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่มีเหตุจำเป็นต้องเร่งประมูลพร้อมกันในคราวเดียว จากการศึกษาแผนงานร่วมกันของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ชี้ชัดว่ากระบวนการการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านหากต้องใช้คลื่น 3500MHz ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงเป็นเหตุผลสมควรที่สามารถเลื่อนแผนการประมูลคลื่น 3500 MHz ออกไปก่อน เพื่อให้ไม่กระทบต่อผู้ชมก่อนสิ้นสุดอายุใบอนุญาตของดิจิทัลทีวีปี 2572
ก่อนหน้านี้ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านกิจการโทรคมนาคม หรือ บอร์ด กสทช. จากการศึกษาผลวิจัยในประเทศผู้ผลิต พบว่า แม้ไทยจะให้บริการ 5G ไปแล้ว ในย่าน 700 850 2100 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ขณะที่ ระบบนิเวศอุปกรณ์สำหรับเครือข่ายสแตนด์ อะโลน (เอสเอ) ในย่านความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ถูกพัฒนามาก และหลายประเทศใช้ย่านดังกล่าวเป็นย่านหลักให้บริการ 5G ดังนั้น ในย่านดังกล่าว จะมีข้อดีคือ เกิด "อีโคโนมี ออฟ สเกล" ทั้งอุปกรณ์ผู้ให้บริการ และอุปกรณ์ผู้ใช้งานทั้ง 5G ในอุตสาหกรรม ที่เป็นยูสเคสต่างๆ และสมาร์ทโฟนสำหรับการใช้งานผู้บริโภคทั่วไป ที่จะมีราคาต่อหน่วยและความหลากหลายที่มากกว่า
คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz เป็นคลื่นโทรคมนาคม แต่ที่ผ่านมา กสทช.ชุดก่อนหน้านี้นำคลื่นความถี่ 350 MHz จำนวนหนึ่งไปใช้กับจานดาวเทียมดำซีแบนด์ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับชมจานซีแบนด์ผ่านทีวีดิจิทัล เมื่อ กสทช. เรียกคืนคลื่นความถี่ 3500 MHz ขึ้นมากำลังกลายเป็นปมปัญหาเพราะกลุ่มทีวีดิจิทัล เชื่อว่ามีผลกระทบต่อธุรกิจทำให้เกิดจอดำถึง 2 ล้านครัวเรือน ประชาชนไม่สามารถรับชมได้ 10 ล้านราย.