วันที่ 18 มีนาคม 2568 ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการ กับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยคาดว่าระบบจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
ความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลให้ความหลงเชื่อข่าวปลอมลดลง จากเดิมปิดเว็บได้สัปดาห์ละ 2,000 รายการ ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้จะปิดกั้นข่าวปลอมได้ 10,000 รายการ สำหรับแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เป็นแอปฯที่รวบรวมช่องทางการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของหน่วยงานรัฐ แจ้งเตือนข่าวปลอม การหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้วยการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างกระทรวงดีอี และ DGA ซึ่งจะประกอบไปด้วยบริการดังนี้
1. ให้บริการข้อมูลความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งประชาชนสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล
2. ให้บริการข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข่าวปลอม การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ และข่าวปลอม
3. สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำระบบงานจัดเก็บข้อมูลแอปฯ Cyber Community Thailand ให้สามารถใช้บริการผ่านแอปฯ "ทางรัฐ" โดยมีมาตรการรักษา ความปลอดภัยที่เหมาะสมในการเข้าถึงบริการของประชาชน และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
“การให้ความรู้ด้านดิจิทัล การแจ้งเตือนข่าวปลอม และภัยออนไลน์ ผ่านทางแอปฯ “ทางรัฐ” ถือเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อป้องกันประชาชนจากภัยคุกคามทางออนไลน์ ลดความเสี่ยงการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน ถือเป็น 1 ในช่องทางที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วประเทศ” โฆษกกระทรวงดีอี กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ
ด้านนางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA เปิดเผยว่า ความสำคัญของการ MOU ในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการทวีความเข้มข้นในการป้องกันภัยที่เกิดจากปัญหาการหลอกลวงประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ในเชิงรุกได้อย่างแท้จริง โดยการให้ความรู้ และแจ้งเตือนภัยผ่านแอปฯทางรัฐ ซึ่งปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 41 ล้านดาวน์โหลด ทำให้มั่นใจได้ว่าแอปฯ ทางรัฐจะเป็นช่องทางการสื่อสารของรัฐที่มีประสิทธิภาพ สามารถสื่อสารข้อมูลและการแจ้งเตือนต่างๆ เข้าถึงประชาชนได้ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งยังเป็นช่องทางจากรัฐโดยตรงประชาชนเชื่อใจได้ว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นข้อเท็จจริง
นางไอรดา เหลืองวิไล
ปัจจุบันแอปพลิเคชันทางรัฐมีบริการภาครัฐกว่า 179 บริการ รวมถึงบริการประเภทแจ้งเรื่องร้องเรียนต่างๆ อาทิ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 / แจ้งเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย 1567 /การแจ้งเหตุคดีพิเศษ DSI 1202 หรือ แจ้งอายัดบัญชีธนาคารได้ที่แอปฯ ทางรัฐ เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้แอปฯทางรัฐ กำลังพัฒนาบริการแจ้งเบาะแสยาเสพติดรวมถึงการแจ้งเบาะแสบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มิได้เป็นเพียงการเสริมภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยการหลอกลวงทางสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนในการร่วมกันป้องกันภัยจากข่าวปลอม และจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง.