“มหิดลวิทย์” ถอดบทเรียนการใช้ AI เพื่อการศึกษา เน้นพัฒนาต่อเนื่อง

21 ธ.ค. 2567 | 17:40 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2567 | 17:50 น.

โลกเปลี่ยนไว AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน “ดร.วรวรงค์” เผย “มหิดลวิทย์” ถอดบทเรียนการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการศึกษา เน้นพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งระดับบุคคลและสถาบันการศึกษา

ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) เปิดเผยว่า จากกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้แนวคิด 2568 โอกาสไทย ทำได้จริง เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาและวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย พร้อมกับการผลักดันให้คนไทยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล นั้น

“มหิดลวิทย์” ถอดบทเรียนการใช้ AI เพื่อการศึกษา เน้นพัฒนาต่อเนื่อง

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในฐานะโรงเรียนวิทยาศาสตร์ต้นแบบของรัฐ ได้ถอดบทเรียนการดำเนินการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ AI และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานประชุมวิชาการ Thailand-Japan Education Leaders Symposium (TJ-ELS 2024) ครั้งที่ 3 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล

ดร.วรวรงค์ กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีความสามารถในการเรียนรู้และให้เหตุผลคล้ายกับมนุษย์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนรายบุคคลได้ การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และช่วยลดเวลาและภาระครู เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนได้ แต่ก็ยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ไม่มีรูปแบบสำเร็จรูป และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งบุคลากรทางการศึกษายังต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน และถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาทั้งในระดับบุคคลและสถาบันการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

“MWIT เริ่มใช้ AI ตั้งแต่ ChatGPT เปิดตัวเมื่อ 2 ปีก่อน และดำเนินการทดลองใช้ทั้งโรงเรียนในสามมิติ คือ การจัดการเรียนการสอน การทำโครงงานวิจัย และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร โดยมุ่งเน้นการค้นหารูปแบบและวิธีการเรียนรู้ที่เพิ่มคุณภาพการเรียนรู้ระหว่างครูและผู้เรียน เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน"

“มหิดลวิทย์” ถอดบทเรียนการใช้ AI เพื่อการศึกษา เน้นพัฒนาต่อเนื่อง

การนำ AI ทั้ง Machine Learning และ Deep Learning มาเป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานในองค์กร ตามลำดับ ซึ่งเราได้ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องในองค์กร” ดร.วรวรงค์ กล่าว

ดร.สาโรจน์ บุญเส็ง หัวหน้าฝ่ายบริหารการเรียนรู้และระบบโรงเรียนประจำ และครูผู้สอนวิชาเคมีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้นำเสนอผลการถอดบทเรียนของ MWIT ในงาน TJ-ELS 2024 เรื่อง “AI in Action: Transforming Education at a Science High School, MWIT” โดยเล่าถึงตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ในการสร้างหลักสูตรของโรงเรียน

“มหิดลวิทย์” ถอดบทเรียนการใช้ AI เพื่อการศึกษา เน้นพัฒนาต่อเนื่อง

โดยค้นหาแนวทางการประเมินสมรรถนะผู้เรียนโดยการสังเกตพฤติกรรม การสร้างคำถามเพื่อนำมาสู่การอภิปรายในชั้นเรียน การสร้างโค้ดเพื่อนำเสนอข้อมูลกราฟและสมการ การปรับปรุงคุณภาพเนื้อหา การให้คำแนะนำเฉพาะบุคคล และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรายวิชา การสืบค้นข้อมูลและสนับสนุนการเขียนโครงงานวิจัยของนักเรียน

ดร.สาโรจน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงเรียน เราได้ใช้งาน AI ทำงานที่หลากหลาย เช่น การเขียนโครงการ การสร้างขั้นตอนการทำงาน (Flow Chart) การตอบอีเมล ร่างจดหมายราชการ การสร้างกำหนดการกิจกรรม การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การสร้างสคริปต์ของพิธีกร

ซึ่งเทคโนโลยี AI ช่วยให้บุคลากรในโรงเรียนประหยัดเวลาในการทำงานที่ซับซ้อน สร้างคุณค่าของการทำงานได้มากขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของนักเรียน แต่ยังส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาเชิงรุกในยุคดิจิทัล