'ยิบอินซอย' บริษัทสัญชาติไทยที่มีอายุเกือบ “100 ปี” เริ่มต้น จากธุรกิจ 'เหมืองแร่' สู่ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีในไทย อย่างไรก็ตามธุรกิจของ “ยิบอินซอย” ส่วนใหญ่เป็นลักษณะ ธุรกิจต่อธุรกิจ หรือ B2B เป็นหลัก ล่าสุดชื่อ “ยิบอินซอย” กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อีกครั้งภายหลังจากร่วมพันธมิตร เข้าซื้อกิจการ 'Robinhood' จากอ้อมอกยานแม่ SCBX มูลค่าซื้อขายกิจการรวม 2,000 ล้านบาท ถือเป็นการเปิดศักราขใหม่ของยิบอินซอย ในการขยับเข้าสู่ธุรกิจแบบ B2C และ Platform as a Service ที่สามารถต่อยอดธุรกิจไปสู่บริการดิจิทัลหลากหลายในอนาคต
ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นางมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลยิบอินซอย ในฐานะผู้หญิงเก่ง และแกร่ง ที่เป็นพลังขับเคลื่อนธุรกิจเก่าแก่อย่าง”ยิบอินซอย” ให้ก้าวข้ามผ่านปีที่ 100 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ธุรกิจ และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
นางมรกต เล่าถึงเส้นทางการทำงานในยิบอินซอยจนก้าวขึ้นมาผู้นำสูงสุดองค์กร โดยระบุว่า ที่จริงแล้ว ตอนแรกเรียนจบสถาปัตยกรรมจากจุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 2 ไม่ได้มีความคิดว่าจะเข้ามาทำงานในธุรกิจของครอบครัว โดยในครอบครัวเองก็ไม่มีใครทำธุรกิจแบบจริงจัง มีเพียงคุณพ่อที่เป็นนักธุรกิจที่สร้างบริษัท ยิบอินซอย ซึ่งตัวเองก็ไม่เคยถูกบังคับให้กลับมาทำงานที่บริษัท คุณพ่อให้สิทธิ์เราเลือกเส้นทางของตัวเองอย่างเต็มที่
ในช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ ไปสมัครงานบริษัทเรียลเอสเตท เพราะเรียนมาทางนี้ แต่คุณพ่อชวนให้มาฝึกงานที่บริษัทเพื่อเรียนรู้ว่าบริษัททำอะไรบ้าง ซึ่งตอนนั้นก็ยังมองว่าตัวเองเป็นคนที่มีพื้นฐานด้านสถาปัตย์ ไม่ใช่นักธุรกิจ แต่หลังจากที่ได้ทดลองทำงานและเรียนรู้ภายในบริษัท เริ่มมองเห็นภาพรวมของธุรกิจว่าไม่ใช่แค่การแสวงหากำไร แต่มันคือการแลกเปลี่ยนคุณค่าระหว่างบริษัทกับลูกค้า รวมถึงการสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคม
นางมรกต เล่าต่อไปว่า เริ่มเข้ามาทำงานในยิบอินซอย ตั้งแต่ปี 2534 ในฐานะกรรมการบริษัท ถูกส่งไปฝึกงานในแผนกต่างๆ และเป็นผู้ช่วยเอ็มดี (Managing Director) บริษัท ยิบอินซอยและแย๊คส์ จำกัด ซึ่งเป็นเทรดดิ้ง คอมพานี ได้เรียนรู้ทุกด้านของธุรกิจในบริษัท ทั้งเรื่องระบบเครือข่าย การวางระบบเน็ตเวิร์ก ไปจนถึงการคุมโครงการก่อสร้าง เช่น การวางระบบเครือข่ายให้กับโรงแรมเพนนินซูล่า และการวางเครือข่ายในห้างเซ็นทรัล พระราม 3 หลังจากนั้น ได้รับมอบหมายให้ดูแลสายธุรกิจต่างๆ อย่างครบถ้วน
จนในที่สุดเอ็มดี ยิบอินซอยและแย๊คส์ เกษียณอายุ ระหว่างที่สรรหากรรมการผู้จัดการใหม่ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ จึงอาสาดูแลธุรกิจให้ก่อน แต่ที่สุดคุณพ่อก็หากรรมการผู้จัดการ ยิบอินซอยและแย๊คส์ ไม่ได้สักที จึงนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ยิบอินซอยและแย๊คส์ต่อ จนถึงปี 2557 เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด จนถึงวันนี้ก็ 10 ปีแล้ว
โดยวันนี้ธุรกิจหลักของ ยิบอินซอย ปัจจุบันแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ประกอบด้วย:
ในฐานะผู้บริหารเราเน้นการสร้างมูลค่าในธุรกิจและการตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง โดยไม่ได้มองธุรกิจแค่ในแง่ของตัวเลขกำไรเท่านั้น แต่ยังมองว่าเราสามารถทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้บ้าง
ต่อคำถามที่ว่าผู้หญิงมีข้อดีและข้อจำกัดอะไรบ้าง? นั้นนางมรกต เล่าว่าผู้หญิงมักจะมีความละเอียดอ่อนและความรู้สึกที่คำนึงถึงผู้อื่น ทำให้เราสามารถประสานงานกับทีมและคู่ค้าได้ดีขึ้น เราจะคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ และพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด ข้อดีคือทำให้ทีมงานรู้สึกถึงความร่วมมือและการสนับสนุน
การที่ผู้หญิงยังสามารถปฎิเสธ ไม่ต้องดื่มเหล้ากับลูกค้าหรือพาร์ทเนอร์สามารถถือเป็นข้อดีในการสร้างความแตกต่างและความมั่นใจให้กับตัวเอง ผู้หญิงสามารถใช้ข้ออ้างที่เป็นประโยชน์ เช่น ศีล 5 หรือการรักษาสุขภาพ
แต่ก็อาจมีข้อจำกัดตรงที่บางครั้งการตัดสินใจอาจจะไม่เฉียบคมเท่าผู้ชาย เพราะเรามักจะคิดถึงหลายๆ มุมก่อนที่จะฟันธง
นางมรกต เล่าถึงการเผชิญกับวิกฤติธุรกิจ และผ่านพ้นมาจากวิกฤติต่างๆมาได้ โดย”ยิบอินซอย” ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้ง เช่น วิกฤติค่าเงินบาทในปี 2540 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าวัสดุก่อสร้างที่มีต้นทุนสูงขึ้นมาก รวมถึงการเจอปัญหาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจจากจีนหลังโอลิมปิก ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้าที่ผันผวนขึ้น-ลงอย่างรวดเร็ว
ในช่วงที่เผชิญกับปัญหาเหล่านี้ โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากคู่ค้าและธนาคารที่เราได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีไว้ เช่น คู่ค้าจากเยอรมนีที่เราเคยสั่งปุ๋ยเข้ามาขาย ในช่วงที่เกิดวิกฤตและค่าเงินเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถชำระเงินได้ทันเวลา คู่ค้าก็เข้าใจสถานการณ์และอนุญาตให้เลื่อนการชำระเงินออกไป 6 เดือน นอกจากนี้ ธนาคารก็ได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการให้คำปรึกษาและการจัดการปัญหาเพื่อให้ธุรกิจของเราเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการทำธุรกิจโดยยึดหลักความซื่อสัตย์และการสร้างความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับหลักปรัชญาในการบริหารธุรกิจนั้นเชื่อว่าการทำธุรกิจคือการเกื้อกูลกัน เราไม่ได้มุ่งแค่การหากำไรสูงสุด แต่เป็นการสร้างคุณค่าร่วมกัน ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราควรได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ลูกค้า หรือพนักงาน เรามองว่าธุรกิจของเราต้องทำอะไรที่สร้างคุณค่าและมีความหมายให้กับสังคม นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน เพราะธุรกิจมีขึ้นและลง สิ่งสำคัญคือการตั้งมั่นในหลักการที่เรายึดถือ
นางมรกต ยังได้ให้นิยามตัวเองว่าเป็นคนติดดิน ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และมองว่าทุกอย่างในโลกนี้มีการเกิดขึ้นและดับไป เราไม่ควรยึดติดกับความสำเร็จหรือความล้มเหลว แต่ควรทำให้ดีที่สุดในช่วงเวลาที่มีอยู่ การเป็นผู้หญิงในการบริหารธุรกิจอาจจะทำให้เราคำนึงถึงความรู้สึกและความต้องการของคนรอบข้างมากขึ้น ซึ่งคิดว่ามันเป็นข้อดี เพราะเมื่อเราเปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เราจะได้รับความไว้วางใจและความร่วมมือที่ดีจากทีมงานและคู่ค้า