นายทวีพงค์ สุธรรมพันธุ์ นายกสมาคมโดรนเพื่อการเกษตร (ประเทศไทย) กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วน ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และราคาพืชผลการเกษตร นั้นสร้างแรงกระตุ้นการเติบโตตลาดโดรนการเกษตรในไทยเป็นอย่างมาก คาดว่าปีนี้ยอดซื้อขายรวมในตลาดจะอยู่ที่ 8,000 เครื่อง เติบโตราว 50% โดยการนำโดรนไปใช้หว่านปุ๋ย และหว่านข้าว เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนโดรนการเกษตรสะสมทั้งสิ้น 20,000 เครื่อง
ขณะเดียวกันตามโรดแมปของรัฐบาลยังให้การสนับสนุนเกษตรบริการ เพื่อรองรับกับความต้องการใช้งานโดรนการเกษตรที่มีเพิ่มขึ้น พร้อมจัดตั้งศูนย์บนิการทั่วถึง ซึ่งเชื่อว่าในระยะถัดไปจะมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรบริการ เพื่อให้นำโดรนไปใช้บริการทางการเกษตร และสินเชื่อสำหรับผู้ใช้บริการโดรนการเกษตรออกมา
ด้านดร.มหิศร ว่องผาดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด สตาร์ตอัพผู้พัฒนาโดรนพันธุ์ไทย “ไทเกอร์โดรน” กล่าวในทำนองเดียวกันว่าขณะนี้โดรนการเกษตร เปรียบเสมือนรถกระบะ หรือมอเตอร์ไซด์ ที่ถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของเกษตรกรไปแล้ว โดยความต้องการใช้งานโดรนการเกษตรมีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ต้องการยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย นั้นจะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ตลาดโดรนมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดแอป “OpenSky” สำหรับประชาชนในการขออนุญาตทำการบินโดรนด้วย Mobile Application เพื่อขออนุญาตทำการบินโดรน ในพื้นที่นำร่องเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง Bangkok Control Zone รัศมี 35 ไมล์รอบกรุงเทพฯ หรือประมาณ 65 กิโลเมตร จากสนามบินดอนเมือง ในวันที่ 1 กันยายน 2565 จะเป็นตัวเร่งให้การใช้งานโดรนมีมากขึ้น
โดยข้อมูลจาก กสทช. ล่าสุดระบุว่าตลาดโดรนการเกษตรปีนี้จะมียอดซื้อขายรวม 8,000 เครื่อง โดยประเทศไทยจะมีโดรนการเกษตรสะสมอยู่ราว 20,000 เครื่อง