กระแส แบนTemu แรงต้านยักษ์อีคอมเมิร์ซจีนกินรวบตลาดไทย

17 ส.ค. 2567 | 08:30 น.

“Temu” แอปอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนที่จดทะเบียนในอเมริกา ที่เปรียบเหมือนสึนามิไล่ถล่มยักษ์แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ เจ้าเดิม ทั้ง อเมซอน อาลีบาบา ลาซาด้า หรือ ช้อปปี้ มาแล้วทุกรายมาแล้วทั่วโลก โดยในสหรัฐฯ ได้รับความนิยม สร้างความสั่นสะเทือนในอเมซอน

คอนเซ็ปต์การให้บริการของแอป Temu คือ “Shop Like a Billionaire” เน้นขายของถูก ลดสูงสุด 90% โดย Temu ใช้โมเดลด้วยการให้ผู้ผลิตเข้ามาขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มโดยตรง ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ยิ่งร้านไหนราคาถูก ก็ยิ่งถูกดันการมองเห็นมากเท่านั้น ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ Group Buying คือให้ผู้ซื้อรวมกลุ่มสั่งซื้่อสินค้าชิ้นนั้น ๆ กับผู้ผลิต เพื่อให้ได้ความรู้สึกเหมือนเหมาสินค้าราคาส่งนั่นเอง โมเดล Temu ประสบความสำเร็จทั้งในอเมริกาและยุโรปอย่างรวดเร็ว

กระแส แบนTemu แรงต้านยักษ์อีคอมเมิร์ซจีนกินรวบตลาดไทย

Temu เริ่มขยายตลาดเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยเป็นประเทศที่ 3 ของภูมิภาคที่ Temu เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยเป็นแอปภาษาไทย ราคาเป็นบาท บริการส่งฟรี และระบบคืนเงินหากไม่พอใจสินค้า สินค้าที่วางขายในเว็บไซต์ Temu ใช้เวลาในการจัดส่งไม่เกิน 5 วัน จากกวางโจว มาถึงกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตามการเข้ามาตีตลาดอีคอมเมิร์ซไทยของแอป Temu ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว โดยภายหลังที่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงคนในวงการอีคอมเมิร์ซ ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่าการเข้ามาของ Temu นั้นอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน ได้แก่ ผู้ประกอบการขนาดเล็กอาจไปต่อไม่รอด เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้

ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เป็นโรงงานอาจผลิตสินค้าขายไม่ได้ เพราะต้นทุนสูงกว่าสินค้าจากจีน

ซัพพลายเชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากความต้องการผลิตในประเทศลดลงแรงงานอาจตกงานเนื่องจากโรงงานปิดตัว ส่งผลต่อการจ้างงานในภาคการผลิต

แม้ว่าผู้บริโภคอาจมองว่าการมีสินค้าราคาถูกเป็นเรื่องดี แต่ยิ่งเราซื้อสินค้าจีนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำร้ายธุรกิจคนไทยมากขึ้นเท่านั้น

หลังจากนั้นรัฐบาลก็ออกมารับลูก มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมสรรพากร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หาทางรับมือกับการเข้ามาในไทย ของ Temu   

อย่างไรก็ตามกรมสรรพากร ออกมาระบุว่าสถานะของ Temu นั้น ยังไม่เข้าข่ายตามกฎหมายการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นทำให้ไม่สามารถบังคับให้เขามาจดทะเบียน Vat ได้

ปลุกให้เกิดกระแสการต่อต้าน Temu เริ่มมีมากขึ้นเป็นโลกโซเชียล โดยมีติดแฮชแทค #แบนTemu รวมถึงคอมเม้นท์เชิงต่อต้านบนเพจ Temu Thailand อาทิ “ไม่สนับสนุนของจีน โดยที่ไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรและมีแต่เงินไหลออกประเทศอย่างเดียว” , ‘คนไทยไม่ควรสนับสนุนแอฟที่ไม่เสียภาษีให้เจ้าของประเทศแย่งอาชีพคนไทย’ หรือ ควรผ่าน มาตรฐานไทย เช่น มอก อย และจ่ายภาษีให้ครบ แล้วค่อยเข้ามาขาย

Temu กำลังเผชิญแรงต้านอย่างหนักจาก ผู้ประกอบการไทย และโลกโซเชียล รวมไปถึงการจับตามองอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานรัฐ อาจทำให้การเข้ามาตีตลาดไทยอาจไม่ง่ายเหมือนกับที่ตีตลาดแตกทั่วโลกมาแล้ว