นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี 7/2567 ที่มี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวง ดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ
และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมหารือกัน เพื่อดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
โดยในการประชุมได้มีการพิจารณาการแก้กฎหมายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์รวมทั้งเร่งรัดคืนเงินผู้เสียหาย โดยประเด็นแก้กฎหมายเร่งด่วนสรุปได้ดังนี้
(1) การเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่มีการระงับหรืออายัดบัญชีม้าที่มีเงินในธนาคาร มีมูลค่าหลายพันล้านบาท แต่ยังไม่สามารถคืนเงินผู้เสียหายได้ เนื่องจากการดำเนินคดียังไม่สิ้นสุด หรือ ยังติดขัดข้อกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัย
(2) การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและคนร้ายในอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี
(3) การป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฏหมาย รวมถึงการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนร้ายหรือโจรออนไลน์
(4) การระงับธุรกรรมต้องสงสัยในส่วนของการใช้ซิม หรือการสื่อสารต้องสงสัยเป็นการชั่วคราว
นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการแก้กฎหมายในประเด็นอื่นที่เป็นปัญหาอุปสรรค ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กระบวนการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับคดีออนไลน์ ที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีมติ ให้ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย รวบรวมประเด็นและจัดทำร่างกฎหมายพิเศษเพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีใน 30 วัน และการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฏหมาย
สำหรับ มาตรการและผลการดำเนินงาน ถึง 31 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มี 8 เรื่องที่สำคัญ ดังนี้
1.การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนกรกฎาคม (ข้อมูล ตร.)
- การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท 1-31 ก.ค. 67 มีจำนวน 2,306 ราย ลดลงร้อยละ 7.57 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
- การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ ก.ค.67 มีจำนวน 980 ราย ลดลงร้อยละ 7.89 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
- การจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า ก.ค.67 มีจำนวน 208 ราย ลดลงร้อยละ 13.33 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
ทั้งนี้ ตร. มีการจับกุมครั้งสำคัญ ในเดือน ก.ค. 2567 อาทิ 1) จับกุมเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ 5 เครือข่าย ได้แก่ เว็บไซต์ “4dking.club” เว็บไซต์ “88lotto.club”เว็บไซต์ “mawin8s.com”เว็บไซต์ “huay-dd.com”เว็บไซต์ “viphuay88.com” และจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 11 ราย พร้อมทั้งยึดทรัพย์ ได้เป็นจำนวน 360 ล้านบาท
2) จับกุมเว็บพนันออนไลน์ จำนวน 2 เว็บไซต์ ได้แก่ www.kingpigs1.com และ www.duckystars.com ซึ่งผู้เข้าเล่นกว่า 5 หมื่นคน และจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 4 ราย พร้อมทั้งยึดทรัพย์ ได้เป็นจำนวน 190 ล้านบาท 3) จับกุมขบวนการหลอกลงทุน TURTLE FARM จำนวน 11 ราย พร้อมทั้งยึดทรัพย์ 116 ล้านบาท 4) ทลายขบวนการหลอกนำแรงงานต่างด้าวมาเปิดบัญชีม้า โดยสามารถจับกุมนายหน้าได้ 1 ราย พบเงินหมุนเวียนกว่า 3 พันล้านบาท
2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน
- ปิดโซเชียลมีเดีย และเว็บผิดกฎหมายทุกประเภท เดือน ก.ค. 67 จำนวน 16,279 รายการ เพิ่มขึ้น 7.10 เท่า จากเดือน จาก ก.ค. 66 ที่มีจำนวน 2,294 รายการ
- ปิดเว็บพนัน ก.ค. 67 จำนวน 6,519 รายการ เพิ่มขึ้น 67.21 เท่า จากเดือน ก.ค. 66 ที่มีจำนวน 97 รายการ
3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน
ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 ก.ค. 2567 มีดังนี้
- ระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 920,694 บัญชี แบ่งเป็น ปปง. 451,188 บัญชี ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี และ AOC ระงับ 169,506 บัญชี
4.การแก้ไขปัญหาซิมม้า และ ซิมที่ผูกกับ Mobile Banking ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 ก.ค. 2567 มีดังนี้
- การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 71,122 หมายเลข มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 70,704 เลขหมาย
- การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน และผลการดำเนินงาน มีดังนี้
(1) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยมีเลขหมายที่เข้าข่าย 5.0 ล้านเลขหมาย ซึ่งครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ระงับซิมผู้ที่ไม่มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 1.0 ล้านเลขหมาย
(2) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ จะต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 4.0 ล้านเลขหมาย ระงับซิมผู้ที่ไม่มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 1.9 ล้านเลขหมาย
- การเข้มงวดในการเปิดใช้ ซิมใหม่ ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของ กสทช. เพื่อป้องกัน การนำซิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย
5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
“ดีอี” เปิดยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” โดยปฏิบัติการสนับสนุนร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนธิกำลังกับหัวเรือใหญ่ กสทช., พร้อมทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่าย AIS DTAC TRUE NT และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ในการตัดสัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพ ซึ่งเป็น“แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ” สามารถลักลอบนำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชนชาวไทยได้อีก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกันแถลงผลการจับกุมกวาดล้างเสาส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตเถื่อน 4 จุด ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหา พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์ ของกลางเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมเถื่อนที่ใช้ในการส่งสัญญาณข้ามแดน
2) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดปฏิบัติการ Season 2 โค่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยึดเครื่องมือส่งสัญญาณ STARLINK - ซิมการ์ดต่างประเทศ ก่อนส่งเมียนมา โดยได้ทำการตรวจยึด อุปกรณ์รับ - ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink จำนวน 73 เครื่อง ประกอบด้วยในพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี จำนวน 30 เครื่อง กรุงเทพมหานคร จำนวน 28 เครื่อง และจังหวัดตาก จำนวน 15 เครื่อง และสามารถทำการตรวจยึดซิมการ์ด รวมทั้งสิ้นจำนวน 18,742 ชิ้น
3) สถานีตำรวจภูธรแม่สอด ตรวจยึดอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ส่งสัญญาณ ณ ท่าข้ามที่ 46 จากผลการตรวจค้นพบอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต ได้แก่ 1) กล่องรับส่งสัญญาณประมาณ 400 ชุด 2) อุปกรณ์เชื่อมสายสัญญาณ 1 ชุด 3) เสาอากาศ 4 ต้น และ 4) อุปกรณ์ติดตั้ง 2,500 ชิ้น
6. การเพิ่มบทบาท ความรับผิดชอบให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และธนาคาร
กระทรวง ดีอี ได้ดำเนินการปรับเป็นพินัย กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย และได้มีคำสั่งปรับพินัย ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย
7. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441
กระทรวง ดีอี ได้มีการประชุมหารือการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ thaipoliceonline (ตร.) ข้อมูลเส้นทางการเงิน (สมาคมธนาคารไทย) ข้อมูล HR 03 (ปปง.) ซึ่งจะทำให้ระงับบัญชีที่เกี่ยวข้องและดำเนินการจัดการคดีได้รวมเร็วมากยิ่งขึ้น
8. การสร้างความตระหนักรู้ภัยออนไลน์ ควบคู่กับการปราบปราม
ในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ดีอี จับมือ 10 หน่วยงานพันธมิตร คิกออฟ “Digital Vaccine” จุดพลุ สร้างภูมิคุ้มกันคนไทย ห่างไกล “โจรออนไลน์” โดยมี 11 หน่วยงาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการจัดทำพร้อมทั้งเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการ “Digital Vaccine” ประกอบด้วย
(1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
(2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(3) กรมสอบสวนคดีพิเศษ
(4) กรมประชาสัมพันธ์
(5) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(6) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
(7) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(8) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(9) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
(10) สมาคมธนาคารไทย
(11) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มว่า “ในเรื่องการเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า พร้อมทั้งเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์มีความคืบหน้าไปมาก อย่างไรก็ตาม การปราบปรามจับกุมให้ถึงต้อตอคนร้ายทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ในต่างประเทศยังไม่น่าพอใจ
นอกจากนี้ จากการร่วมทำงานแก้ปัญหาที่ผ่านมา ยังพบปัญหาจากข้อกฎหมาย กฎระเบียบ โดยเฉพาะเรื่องการติดตามเงินและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย จึงจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นควรเร่งรัดจัดทำร่างกฎหมายให้พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีใน 30 วัน”