ที่ปรึกษาประธาน กสทช. ชูโมเดลปราบมิจฉาชีพไซเบอร์ ในไทยอวด เวที GSMA

28 มิ.ย. 2567 | 10:53 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2567 | 11:01 น.

ที่ปรึกษาประธาน กสทช. ชูโมเดลปราบมิจฉาชีพไซเบอร์ ประเทศไทย อวดในเวที GSMA สานพลังความร่วมมือรัฐ-เอกชน เสนอต่อประเทศสมาชิก 20 ชาติ

นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษา ประธาน กสทช. เข้าร่วมเวที GSMA ที่ประเทศจีน นำโมเดลปราบมิจฉาชีพทางไซเบอร์ หรือ "NBTC Model" ของประเทศไทย สานพลังความร่วมมือรัฐ-เอกชน เสนอต่อประเทศสมาชิก 20 ชาติ ได้รับยกย่องเป็นต้นแบบปฏิบัติการตัดวงจรอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ได้ผล

การประชุม GSMA นครเซี่ยงไฮ้ เป็นเวทีผู้นำด้านสื่อสารโทรคมนาคมจากทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย และสหรัฐ ฯลฯ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิด วิสัยทัศน์และความก้าวหน้านโยบายด้านดิจิทัลที่สำคัญ

นายพชร กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของประเทศไทยบนเวที GSMA ได้นำผลงานความสำเร็จของ "NBTC Model" ที่กสทช.ใช้บริหารจัดการข้อมูลและตามจับกุมอาชญากรข้ามชาติ แกงค์คอลเซ็นเตอร์และเครือข่ายมิจฉาชีทางไซเบอร์ ตามนโยบายของเชิงรุกของรัฐบาลไทยอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม

"NBTC Model เป็นความร่วมมือทำงานแบบบูรณาการ หรือ intra-agencies ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการ โอเปอเรเตอร์ ทหาร ตำรวจ และ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) แบ่งปันข้อมูลและร่วมมือกันจับกุมคนร้าย"

นายพชร นริพทะพันธุ์

นายพชร นริพทะพันธุ์
 

นายพชร ระบุด้วยว่า อีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญมาจากภาคเอกชนที่เป็น Operator ของไทย เช่น AIS ที่เป็นผู้นำปฎิบัติการครั้งนี้ ช่วยขับเคลื่อน NBTC Model ให้เดินหน้าครบวงจร เป็นการสร้างความตระหนักถึงหน้าที่และรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมทั้ง Accountability และ Responsibilities เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนช่วยกันหยุดยั้งอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้จงได้

ที่ประชุมยังเสวนาแบบ roundatable กับประเทศสมาชิก โดยนาย David Turkington, Head of Technology, GSMA, APAC ได้หารือ ถึงการที่ประเทศไทย เป็นประเทศแรกๆที่ สามารถตามจับ StingRay หรือ FakeBaseStation ที่เป็นตัวกระจาย SMS ตรงเข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ชุมชน เพื่อ หลอกให้เข้าลิงค์และหลอกดูดเงินต่างๆ และได้มีนาง Qi Xiaoxia, Director-General International, Cyberspace Administration of China เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ด้านนาง Jeanette Whyte, Head of Policy, GSMA, APAC ได้ระบุถึง ความเป็นผู้นำของเทคโนโลยี การสื่อสารในภูมิภาคและการเป็นต้นแบบของประเทศไทยในภูมิภาค ซึ่งจะมีรายงานเป็นเอกสารออกมาในปีนี้ รวมถึงให้การยอมรับ ศาสตราจารย์คลินิกนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ที่มอบนโยบายและผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ๆมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ MVNOs เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และทางเลือกให้กับผู้บริโภค 

ทีมผู้บริหาร GSMA ยังเชิญให้ นายพชร เข้าร่วมการประชุมต่อเนื่องต่อจากนึ้ เพื่อสร้าง Cyber Diplomacy Framework ผ่าน Trust and Collaboration Model โดยเน้นการสร้างความร่วมมือ แนะนำกรอบการดำเนินการ และ การบริหารข้อมูล เช่น ข้อมูล attack vector ของคนร้าย และ อุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ เช่น e-sim, LEOs และ Simbox ในการก่ออาชญากรรม การประชุมครั้งนี้ถือ เป็นการประชุมครั้งที่ สาม ต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา อาชญากร Cyber ข้ามชาติ ต่อจากที่ สเปน และ สิงค์โปร์ 

ในโอกาสเดียวกัน นายพชร ได้เข้าเยี่ยมชมบูธ งานแสดงโชว์ของ บริษัท หัวเหว่ย ซึ่งมีการแสดงศักยภาพ Cloud Phone และ AI Phone ซึ่งเป็นต้นแบบของการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในอนาคต และได้หารือกับนักลงทุน ถึง นโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาลไทย ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต และจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทย รวมถึงการหารือกับรัฐมนตรีมัลดีฟ และ ผู้แทนกำกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งบังคลาเทศ ที่สนใจการทำงานของไทยและสร้างความร่วมมือทางด้านนี้ เพราะประเทศกำลังพัฒนาหลายๆแห่ง ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานแต่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเป็นผู้นำทางด้าน Cloud BigData และ AI ในภูมิภาคได้.