นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประธาน กสทช.ได้เข้าร่วมประชุมพหุภาคีหน่วยงานกำกับดูแลกิจการด้านสื่อสารโทรคมนาคม (Regulator) กลุ่มอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ณ ประเทศสิงคโปร์ ตามคำเชิญของ Lew Chuen Hong ประธานองค์กรด้านสารสนเทศ การสื่อสารและการพัฒนาสื่อ (IMDA) แห่งสิงคโปร์
“การประชุมครั้งนี้สำคัญมากต่ออนาคตการสื่อสารในภูมิภาคนี้ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย 2 หัวข้อหลัก ก็คือ การบริหารจัดการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI บนธุรกิจกระจายเสียงและเครือข่ายโทรคมนาคม และการแก้ไขอาชญากรรมบนเครือข่ายโทรคมนาคมหรือคอลเซ็นเตอร์”
ที่ประชุม แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ประกอบด้วย นาง Jessica Rosenwarcelประธานคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งสหรัฐอเมริกา(USFCC) , นาย Chenda Thong ประธาน กสทช.กัมพูชา , ดร. Nguen Thanh Tuyen รองปลัดกระทรวงไอซีทีเวียดนาม , นาย Phonpasit Phissamay Harmi Ibrahim รองประธานกสทช.บรูไน , นาง Aileen Chia รองประธาน IMDA สิงคโปร์ พร้อมผู้แทนจากกระทรวงไอซีทีอินโดนีเซียและสปป.ลาว ฯลฯ
นายพชร กล่าวว่า ที่ประชุมมองถึงความท้าทายจากเทคโนโลยี Generative AI ในรูปแบบการปลอมแปลงภาพและเสียงแบบสมจริง หรือ DeepFake Video ต้องกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมและได้รับการรับรอง เพื่อให้เกิดความเชื่อถือในสังคม ป้องกันการสร้างความวุ่นวายผ่านเทคโนโลยี Generative AI โดยทาง FCC สหรัฐฯ จะเริ่มออกแนวทางกำกับดูแลและรับรองเนื้อหาผ่านความโปร่งใสแบบสมัครใจ ของผู้ผลิตเนื้อหาที่จะบอกสังคมว่าเนื้อหาไหนผลิตจาก AI เป็นต้น
“ในส่วนของไทยมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังในระดับกระทรวง และสร้างแนวทางจริยธรรมในการใช้ Generative AI ในการผลิตข้อมูลข่าวสาร ส่วนในประเทศอาเซียนก็จะมีแนวทางกำกับดูแลที่คล้ายๆกัน”
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมหารือปัญหา call center โดย นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประธาน กสทช. ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาลและทำงานด้านวิชาการและบริหารจัดการกำกับดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้นำเสนอกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ดำเนินงานตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งเข้มงวดเรื่องการจดทะเบียนซิมโทรศัพท์ ปิดบัญชีซิมม้า และจำกัดโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้บริการในประเทศเพื่อนบ้าน
นายพชร กล่าวอีกว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาจนเป็นที่ยอมรับ ล่าสุดในรายงานของสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (USPI : United States Peace Institute) ภายใต้สภาครองเกรส ที่มีรายงานว่าแกงค์คอลเซ็นเตอร์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ใช้การค้ามนุษย์และยาเสพติดควบคู่กับการหาเงินผ่าน call center โดยมีฐานปฎิบัติการในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ขณะที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้สั่งให้จัดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มีการเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง และออกนโยบายป้องกันมิจฉาชีพอย่างรัดกุม โดย กสทช.ได้นำข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรี มาปฎิบัติร่วมกับกระทรวง ดีอีเอส อย่างเต็มที่
“ในที่ประชุม Regulator ได้ยอมรับกลยุทธ์การบังคับใช้กฎหมายของไทย การกำกับดูแลผู้ให้บริการ และนำผู้บริหารเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ ช่วยจำกัดการใช้โครงข่ายเพื่อบีบอาชญากรให้เปลี่ยนการเข้าถึงโครงข่ายโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ทำให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์เก็บหลักฐาน ส่งผลให้ประเทศต่างๆสามารถระบุตัวกลุ่มอาชญากรและสืบสวนสอบสวนได้ง่ายขึ้น นำคนร้ายมาดำเนินคดีและสร้างความเชื่อมั่นในระบบโครงข่ายกลับมา”
ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. ระบุด้วยว่า การประชุมครั้งนี้มีข้อสรุป เรื่องเพิ่มการทำงานร่วมกันผ่านบันทึกข้อตกลงที่มีอยู่และเพิ่มเติม เช่น การใช้ฐานข้อมูลผู้ให้บริการ SMS (white list) ร่วมกัน การสร้างแนวข้อมูลทางเทคนิค (black list) และการสร้างมาตรฐานแนวปฎิบัติ (information report guideline) ผ่านชุมชุน ASEAN และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทางเทคนิคที่สามารถใช้ร่วมกันในชุมชน ASEAN (A2P protocol) รวมถึงการแชร์ข้อมูลแผนประทุษกรรมของอาชญากร
นายพชรให้ความมั่นใจว่า “ประเทศไทยพร้อมเป็นผู้นำในการสนับสนุน การบริหารจัดการต่างๆกับ ประเทศในอาเซียน และจะนำข้อสรุปจากการประชุมครั้งนี้ เสนอต่อ ประธาน กสทช. เพื่อสั่งการสำนักงาน กสทช. ให้ดำเนินการต่อไป”
ในขณะเดียวกัน นายพชร ยังเข้าร่วมงาน ATX Summit 2024 ที่รวมภาครัฐและเอกชนกว่า 4,000 คน ได้พูดถึงการบริหารจัดการเทคโนโลยี Generative และ Predictive AI ที่จะมีบทบาทในสังคม การตััง Data Center และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในที่ประชุมนายเฮง สวี เคียด รองนายรัฐมนตรีสิงค์โปร์ ประกาศจะเป็นผู้นำด้าน Data Center ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และสร้าง ecosystem ธุรกิจเพื่อให้เป็นผู้นำด้าน AI พร้อมที่จะลงทุนในเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น Quantum Computing ที่จะเปลี่ยนความสามารถของ AI ไปอีกขั้น