“ชูเกียรติ รุจนพรพจี”จากผู้สร้างอาณาจักร SABUY สู่วันถอยฉากจากเกมหุ้น

10 เม.ย. 2567 | 19:04 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2567 | 19:38 น.
4.0 k

“ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ผู้ปลุกปั้น SABUY เริ่มต้นจากตู้เติมเงินอัตโนมัติ ไปสู่เทคคอมพานีด้านการเงิน Fintech แห่งอนาคต ที่มีระบบ Ecosystem ของตัวเองที่ครบวงจรและครอบคลุมที่สุด สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้ภายใต้แนวคิด “ตื่นยันหลับ ชีวิตติดสบาย”

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี  เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ บริษัท เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบริษัท SABUY เทคโนโลยี จำกัด  ตั้งแต่ปี 2559  ภายหลังจากตัดสินใจเกษียญจากนายแบงก์มืออาชีพให้กับธนาคารต่างประเทศชั้นนำด้วยวัย 35 ปี  

“ชูเกียรติ รุจนพรพจี”จากผู้สร้างอาณาจักร SABUY สู่วันถอยฉากจากเกมหุ้น  

โดยเส้นทางอาชีพของชูเกียรตินั้นเริ่มต้นจากธนาคารฮ่องกงแบงก์  (HSBC)  ก่อนข้ามห้วยไปอยู่กับ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และชีวิตการทำงานของนายชูเกียรติ  โลดแล่นในธุรกิจบริการการเงินอย่างโดดเด่น  ทำผลงานเข้าตาผู้ใหญ่จนได้รับการโปรโมตสู่ตำแหน่งระดับสูงสุด คือ  กรรมการผู้จัดการ  สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสิงคโปร์  ซึ่งนั่นเป็นตำแหน่งสุดท้ายของเขาในเส้นทางอาชีพนายแบงก์

จุดเริ่มต้นสร้างอาณาจักร SABUY

ชูเกียรติ เห็นโอกาสจากความเหลื่อมล้ำการเข้าการเข้าถึงบริการการเงิน ที่คนตัวเล็ก  พ่อค้า แม่ค้า ไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินได้    ประกอบกับการเข้ามาของคลื่นดิจิทัล  นายชูเกียรติ จึงเริ่มต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ จากตู้เติมเงินอัตโนมัติภายใต้ชื่อ “เอเจเติม สบาย” และตามมาด้วยตู้ “เวนดิ้ง พลัส” ภายในปีเดียวมียอดตู้รวมกันมากถึง 30,000 ตู้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นธุรกิจต้นเเบบ ที่ทำให้เกิดธุรกิจอื่นๆอีกมากมาย

 

ปี 2560  SABUY ได้เริ่มขยายตลาดไปยังธุรกิจระบบศูนย์อาหารเเละการจัดการเเบบครบวงจร ในฐานะผู้ริเริ่มและผู้นำในด้านการพัฒนาระบบแบบครบวงจรภายใต้ชื่อบริษัท สบาย ซิสเต็มส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบริษัทสบาย โซลูชั่นส์ จำกัด “SBS”) เนื่องจากบริษัทฯ ได้เห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจเเละเพื่อสร้างระบบ Ecosystem ของ SABUY ซึ่งภายในปี 2560 มีศูนย์อาหารชั้นนำภายใต้การดูแลถึง 200 สาขา ทั่วประเทศ

จุดพลิกธุรกิจทำกำไร

ธุรกิจของ SABUY  เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว   จนในปี 2561 ธุรกิจถึงจุดพลิกผันทางธุรกิจมีรายได้ 1,087.96 ล้านบาท กำไรสุทธิ  80.17 ล้านบาท  จากปี 2560 บริษัทมีรายได้ 1,140.03 ล้านบาท ขาดทุน 167.38 ล้านบาท  ขณะที่ในปี 2562 มีรายได้  1279 ล้านบาท  กำไร  57.99 ล้านบาท   และ ปี 2563  ทำรายได้เติบโตต่อเนื่องมากกกว่า  1,500 ล้านบาท   ทำกำไร 102 ล้านบาท 

โดยในปี 2562  SABUY  ขยายธุรกิจตู้เติมเงิน ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติครอบคลุมไปทั่วประเทศ เปิด “6.11 Vending Machine Store” ร้านค้าอัตโนมัติ  , เปิดให้บริการศูนย์อาหารรูปแบบใหม่แห่งแรกที่ศูนย์อาหาร Fashion Island   และเริ่มให้บริการร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญภายใต้เครื่องหมายการค้า “SABUY WASH” 

ในปี 2562  SABUY ยังได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งสิ้น 4 ประเภทธุรกิจ ได้แก่1. ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Money license) ,2. ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (PaymentAgent license: PA) , 3. ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้รับบัตร Payment (Facilitatorlicense: PF)  และ4. ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Fund  Transfer license)

เข้าตลาด- ซื้อกิจการ-ร่วมทุน เร่งโต 

ในปี 2562 SABUY  ได้ทำการเปลี่ยนชื่อจาก “บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด” เป็น “บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)” อย่างเป็นทางการ ในวันที่  26 กุมภาพันธ์ 2562   ก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563    แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากตลาดเท่าที่ควร  ราคาหุ้นต่ำกว่า IPO ปิดที่ 1.87 บาทจากราคา IPO ที่ 2.5 บาท   อย่างไรก็ตามนายชูเกียรติ เดินหน้าซื้อกิจการ และร่วมทุน   เพื่อสร้างอาณา”SABUY”ตามยุทธศาสตร์   และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ไล่เรียงตั้งแต่  ร่วมทุนกับ บริษัท บัซซีบีส์ จำกัด ในการจัดตั้งบริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด เพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกันในการ จัดทำระบบ Loyalty Program สำหรับการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้า  การเข้าซื้อ หุ้นสามัญของบริษัท เอ.ที.พี. เฟรนด์ เซอร์วิส จำกัด (ShipSmile)  ผู้ให้บริการจุดให้บริการรับ-ส่งพัสดุ  ร่วมทุนกับ "ฟอร์ท สมาร์ท(FSMART)"ดำเนินธุรกิจเครือข่ายร้านรับส่งพัสดุ-ซ่อมแซมตู้จำหน่ายสินค้า ร่วมทุนบริษัทลอนดรี้บาร์ ไทย ผู้ให้บริการร้านซัก-อบผ้า แบบบริการตนเอง , ซื้อกิจการ บมจ.ทีบีเอสพี(TBSP) และ ซื้อกิจการ บริษัทเพย์โพสต์ เซอร์วิส (Payspost)เป็นต้น

16 มีนาคม 2564 ขยับจากตลาดตลาด mai  โดยได้รับการอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการเปลี่ยนแปลงตลาดรองสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ จากตลาด mai กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ เป็น SET ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการหมวดธุรกิจพาณิชย์ 

การเข้าจดทะเบียนใน  SET  ติดปีกให้กับ SABUY เดินหน้ายุทธศาสตร์ ซื้อกิจการ และร่วมทุน   โดยคาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 3-4 ปืที่ผ่านมา กลุ่ม SABUY ใช้เม็ดเงินลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท    เพื่อเร่งการเติบโตธุรกิจ  และเติมเต็มอีโคซิสเต็มส์ให้เป็นตามโรดแมป    ทำให้ SABUY มีมูลค่าบริษัทรวม 3 หมื่นล้าน จนวันนี้บริษัทในกลุ่ม SABUY มีไม่ต่ำกว่า 50 บริษัท    เข้าถึงผู้ใช้บริการมากกว่า 50 ล้านคน  

โดยปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจหลักของ SABUY  ประกอบด้วย 6 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ  1. ธุรกิจ Connext  ประกอบไปด้วยธุรกิจเครื่องกรองน้ำ ร่วมกับ TSR,ลงทุนกับ COM7 ทำธุรกิจให้บริการจัดการพื้นที่พาณิชย์ให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ  และลงทุนในบลู พาร์คกิ้ง ผู้นำด้านระบบจัดการที่จอดรถผ่านระบบ Cloud ที่จอดรถอัจฉริยะด้วยระบบที่ทันสมัย

2. ธุรกิจ Enterprise & Life   ธุรกิจตู้เติมเงิน ตู้ขายของ เวนดิ้งพลัส  , ลงทุนในบริษัทคีน โปรไฟล์ ปรึกษางานด้านทรัพยากรมนุษย์ บริการ Human Resource , ลงทุนใน อินโฟแกรมเมอร์ ผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการในร้านอาหาร ระบบ POS  ลงทุนใน SABUY ฟูลฟิลเมนต์ ธุรกิจให้เช่าคลังสินค้า การจัดส่ง ธุรกิจ E-Commerce

3. ธุรกิจ Payment & Wallet   ลงทุนใน แพลต ฟินเซิร์ฟ ผู้ให้บริการตู้ฝาก – ถอนเงินอัตโนมัติ   สร้างรายได้จากการติดตั้ง และเก็บค่าธรรมเนียมจากการให้บริการ

4. ธุรกิจ Financial Inclusion กลุ่มธุรกิจเงินทุน สบาย แคปปิตอล พลัส ต่อยอดไปยังลูกค้าประกันรถยนต์ ภายใต้การดูแลของ SBMX  ,ธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อรายย่อย "โอ มันนี่" รวมถึงการปล่อนสินเชื่อผ่านแอปโดยใช้ระบบ AI   และธุรกิจผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า ในชื่อ "เลิฟ ลิสซิ่ง"

5. ธุรกิจ InnoTainment  ลงทุนในธุรกิจ SABUY ดิจิตอล ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Cryptocurrency และเทคโนโลยี Blockchain  , ธุรกิจสื่อออนไลน์ในชื่อ MarketingOops และเรดเฮ้าส์ ดิจิทัล สื่อการตลาดทางดิจิทัศน์  รวมถึงการเข้าลงทุนในหุ้น RS

6. ธุรกิจ Venture กลุ่มบริษัทลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม Startup เพื่อขยายการลงทุน   และเพิ่มบริการใน Ecosystem ของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

โดยปี  2565  SABUY มีกำไร 1,482.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 593.9% เมื่อเทียบกับปี 2564 มีกำไร 213.60 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมในปี 2565 อยู่ที่ 5,325.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,986.3 ล้านบาท หรือ 127.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน   จนทำให้นายชูเกียรติ มั่นใจว่าผลพ่วงของจิ๊กซอว์ธุรกิจที่ต่อไว้ จะทำให้ธุรกิจ SABUY โตติดสปีด  ประกาศไว้ว่าในปี 2566  SABUY จะมีรายได้ 20,000 ล้านบาท   (4 เท่าจากปี 65  ที่ทำรายได้ไว้ 5,000 ล้านบาท)  ถ้าทำไม่ได้จะลาออก    

อย่างไรก็ตามปัญหาและอุปสรรคหลายประการที่ทำให้การขยายธุรกิจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้   ขณะที่นายชูเกียรติ เป็นคนแรกๆ  ที่ออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบเรื่อง Naked Short Selling   มีการยื่นเรื่องไป DSI ให้ตรวจสอบ  ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้หลายฝ่าย    ทำให้ปี 2566  ทำรายได้ประมาณ  9,600 ล้านบาท   และเริ่มมีกลุ่มนักลงทุนบางราย ที่ถือหุ้นสบายเทคโนโลยีอยู่ทวงถามถึงการลาออก เนื่องจากรายได้ไม่เป็นตามที่ประกาศไว้   ทำให้นายชูเกียรติ ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ  SABUY  เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ระบุแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) พบว่า  นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY มีการจำหน่ายหุ้น SABUY จำนวน 2.4385% โดยเป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ผ่าน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2567 ทั้งนี้ภายหลังการขายหุ้น SABUY ส่งผลให้ ชูเกียรติ มีหุ้นดังกล่าวติดพอร์ตที่ 18.9104%