ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา พร้อมนายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายยอดชาย วีระพงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายอมรรัตน์ กริยาผล อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง และคณะผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ศาลแพ่ง ร่วมพิธีเปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา พร้อมเปิดตัวระบบยื่นคำร้องปิดเว็บได้ทันทีด้วยพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุน
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2567 โดยได้จัดตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีขึ้นในศาลอาญา
โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งหมายความถึงคดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คดีอาญาตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงคดีอาญาตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ (PDPA) และคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชกทรัพย์ หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ (ยกเว้นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดียาเสพติดและแผนกคดีค้ามนุษย์) รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ (PDPA) และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ จึงได้มีการเปิดทำการแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ดีอี ได้ร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม ในการเปิดตัวระบบยื่นคำร้องขอปิดกั้นเว็บไซต์ทางออนไลน์ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สังกัดกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้มีการยื่นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ต่อศาลขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านระบบดังกล่าวด้วยพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ 100% ซึ่งศาลได้มีการพิจารณาคำร้อง พยานหลักฐาน รวมถึงการไต่สวนคำร้องทางออนไลน์ และมีคำสั่งศาลโดยใช้ Digital Signature ในการลงนาม โดยกระบวนทั้งหมดได้ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีความรวดเร็ว ทำให้สามารถรับคำสั่งศาลได้ภายในวันที่ยื่น ทั้งสอดคล้องนโยบายของดีอี ที่ลดการใช้กระดาษให้เป็นศูนย์ และจะมีการเริ่มใช้ระบบดังกล่าวตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
“ในการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ทั้งพนัน และเว็บลามก เดิมทีจะต้องมีกระบวนการยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องเดินทางไปยื่นคำร้อง พร้อมเอกสารหลักฐาน แต่ตอนนี้เราสามารถยื่นคำร้องต่อศาลแบบออนไลน์ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบสถานะการพิจารณาคำร้องของศาลได้ และจะได้รับการแจ้งเตือนที่ส่งจากระบบเข้าสู่อีเมลที่ล็อกอินเพื่อดาวโหลดคำสั่งศาลได้เลย ซึ่งนอกจากเป็นการประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ในการเดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนกระบวนการทำงานของหน่วยงานราชการ เพื่อนำไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ในมิติของการลดใช้กระดาษ ในการยื่นคำร้องขอปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายในระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นอีกหนึ่งการทำงานที่จะช่วยลดการใช้กระดาษได้จริง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ก็มีแผนการดำเนินการเชื่อมโยงเพื่อติดตามสถานการณ์ปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมตามคำสั่งศาลต่อไปในระยะที่ 2 ด้วย” ปลัดกระทรวงดีอี กล่าว