รองศาสตราจารย์ ดร. คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึง ความสำเร็จของการจัดงานงาน “KMITL INNOVATION EXPO 2024” ภายใต้แนวคิด SustainED Innovations ว่า ในปีนี้ สจล. มีผลงานนวัตกรรมมากกว่า 1,111 ผลงานร่วมการแสดงในงาน KMITL Innovation Expo ซึ่งเป็นการยืนยันถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์และการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและสังคมอย่างแท้จริง ด้วยความทุ่มเทในการสร้างสรรค์และการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ
สจล. จึงมุ่งหวังจัดงาน "KMITL INNOVATION EXPO 2024" เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการ ประชาชน และผู้ที่สนใจทุกคนที่ต้องการมาแลกเปลี่ยนแนวคิดกับนักวิจัย เพื่อสร้างการพัฒนานวัตกรรมอย่างยั่งยืน และนำไปใช้ประโยชน์จริงในชีวิตประจำวันและธุรกิจ
ภายในงาน นอกจากจะมีการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นของนักศึกษาและนักวิจัยจาก สจล. แล้ว ยังมีการแสดงผลงานความร่วมมือที่ สจล. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ อีกด้วย อาทิ เช่น โครงการ Smart City ที่ได้มีการลงพื้นที่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ร่วมกับเทศบาลเมืองนครนครศรีธรรมราช โครงการโรงงานแปรรูปผลไม้เคลื่อนที่ ภายได้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ Deep Tech Startups ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นต้น โครงการเหล่านี้เป็นตัวอย่างของนโยบายของ สจล. ในการผลักดันองค์ความรู้และผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกด้าน
นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาเพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงธุรกิจไทย ด้วยหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น 'Navigating the carbon credit landscape: Strategies, challenges, and business impact', 'การเสวนาเรื่อง Future Farming', และ 'การเสวนา 3 พระจอมฯ รวมพลัง ยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยนวัตกรรม' การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมในประเทศมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทั่วโลกและในประเทศ นโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลเช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก นโยบายภาษีคาร์บอน รวมถึงนโยบายภายในประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์ความรู้และนวัตกรรมในประเทศ เรื่องพลังงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานไฮโดรเจน โมดูลนิวเคลียร์ขนาดเล็ก MMR เรื่องการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมร่วมกันด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ด้านนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบในระดับประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร. คมสัน ยังได้กล่าวย้ำว่า การจัดงานในปีนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ จากต่างประเทศมากกว่า 100 หน่วยงาน อีกด้วย อาทิ เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, National Institute of Information and Communications Technology (NICT), Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA), Fukuoka Institute of Technology (FIT), TOKAI University, German Academic Exchange Service (DAAD) เป็นต้น
การจัดงาน KMITL INNOVATION EXPO เป็นเวทีสำคัญที่เชื่อมโยงเครือข่ายงานด้านนวัตกรรม ได้แก่ นักวิจัย นักศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาคการศึกษา ภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ อุตสาหกรรม โดยจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และนวัตกรรม เปิดโอกาสให้นักศึกษาและนักวิจัยได้มองเห็นผลงานที่สร้างสรรค์และนำเสนอแนวคิดใหม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและการต่อยอดสู่การยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆของประเทศในอนาคตต่อไป โดยสจล.เตรียมพร้อมจัดงาน KMITL INNOVATION EXPO ทุกปี และจะจัดครั้งที่ 3 ในเดือนมีนาคม ปี 2025