อว.จับมือ 6 หน่วยงาน ปลุกอาหารพื้นถิ่น หนุนนวัตกรรมฉายรังสี

05 ม.ค. 2567 | 14:13 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2567 | 14:18 น.

อว.จับมือ 6 หน่วยงาน ลงนาม MOU ลุยพัฒนาอาหารพื้นถิ่น-อาหารฟังก์ชั่น รุกนวัตกรรมฉายรังสี หวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันผู้ประกอบการ SMEs ยุคใหม่

นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 4 แห่ง  ได้แก่ มรภ.อุดรธานี  มรภ.บุรีรัมย์ มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สทน. วช. และ มรภ. เข้าร่วมงาน

อว.จับมือ 6 หน่วยงาน ปลุกอาหารพื้นถิ่น หนุนนวัตกรรมฉายรังสี

ทั้งนี้อว.กระทรวงที่ดูแลและขับเคลื่อนองค์ความรู้ของประเทศ ทั้งการพัฒนากำลังคนขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา การนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ และการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในการขับเคลื่อนการวิจัย การลงนามความร่วมมือของทั้ง 6 องค์กรในวันนี้ ซึ่งมีองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และภาคการศึกษาได้มาสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง ในยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งตรงกับยุทธศาสตร์ในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของประเทศ และสร้างระบบนิเวศการวิจัย
 

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า การยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯในวันนี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้การฉายรังสีในอาหารเป็นที่ยอมรับและมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น 

 

“จากการที่ทุกวันนี้คนไทยตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพ  ส่งผลให้มีอาหารฟังก์ชั่น และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ เกิดขึ้นมากมาย  สทน. จึงมุ่งหวังนำเทคโนโลยีการฉายรังสี มาร่วมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารฟังก์ชัน  ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ   เพื่อช่วยรับรองถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์  พร้อมสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพออกมาจำหน่าย ให้คนไทยได้มีสุขภาพที่ดีต่อไปด้วย”

อว.จับมือ 6 หน่วยงาน ปลุกอาหารพื้นถิ่น หนุนนวัตกรรมฉายรังสี
  
สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้  เป็นการดำเนินงานต่อยอดในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ผ่านมา โดยในปี 2567 นี้ มีผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น ในจังหวัดเป้าหมาย คือ มรภ.อุดรธานี  ได้แก่ หมกฮวก แหนมเนือง แหนมกบ ขนมปังญวณ , มรภ.บุรีรัมย์ ได้แก่ ยำกุ้งจ่อม ดักแด้ทรงเครื่อง แกงเผือกปลาย่าง ขนมตดหมา , มรภ.สุรินทร์ ได้แก่ หมาน้อย แกงกล้วย ปลาปิ้ง ข้าวต้มใบมะพร้าว และ มรภ.ศรีสะเกษ ได้แก่ เบ๊าะกะต๊าด หรือส้มตำกระดาษ แกงอ่อมปู แกงเปรอะทุเรียนภูเขาไฟ ไก่ย่างไม้มะดัน เป็นต้น 
 

นอกจากนี้ทุกหน่วยงานจะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ การสร้างการยอมรับเรื่องประโยชน์ของการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ และอำนวยความสะดวกให้มีศูนย์ประสานงาน ในการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อมาฉายรังสี รวมทั้งมีการใช้พื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ 

อว.จับมือ 6 หน่วยงาน ปลุกอาหารพื้นถิ่น หนุนนวัตกรรมฉายรังสี

อย่างไรก็ตามจากปี 2564 ที่ สทน. ได้ร่วมกับสถาบันราชภัฏ นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ด้านการฉายรังสีอาหาร ลงไปส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตอาหารพื้นถิ่น และกลุ่มผู้ประกอบการ SME ภายใต้โครงการการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น ด้วยการฉายรังสีอาหาร ทำให้ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว รวมทั้งสิ้น 543 ผลิตภัณฑ์