Google ประเทศไทย จัดงาน “Digital Samart Thailand” ตอกย้ำพันธกิจภายใต้แนวคิด ‘Leave No Thai Behind’ พร้อมเผยความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินงานที่จำเป็นต่อการส่งเสริมประเทศไทยให้เติบโตในเศรษฐกิจ AI ซึ่งได้แก่ ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) ความร่วมมือด้าน Generative AI (Gen AI) กับ 3 หน่วยงานภาครัฐ และการมอบทุนการศึกษาภายใต้หลักสูตร Google Career Certificates เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน พร้อมเพิ่ม 4 หลักสูตรใหม่ เพื่อช่วยให้คนไทยมีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับสายงานที่มีความต้องการสูงและปูทางสู่อาชีพในอนาคต
โดยโครงการริเริ่มทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ 4 เสาหลักระหว่าง Google และรัฐบาลไทยเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ การต่อยอดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การวางหลักเกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) การส่งเสริมการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัยเพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐ และการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้มากขึ้น
นางสาวแจ็คกี้ หวัง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา Google ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย เราดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ทราบว่า การที่ธุรกิจต่างๆ ในไทยนำผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ทํางานด้วยระบบ AI ของ Google ไปใช้ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาทในปี 2565 นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ร้บผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถึง 7.4 หมื่นล้านบาท และสนับสนุนการจ้างงานในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 250,000 ตำแหน่ง นี่เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงพลังของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสใหม่ๆ และเราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในระยะยาว
ขณะเดียวกัน AI ยังช่วยสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ธุรกิจต่างๆ คิดเป็นมูลค่า 2.6 ล้านล้านบาทในปี 2573 โดยภาคธุรกิจที่มีการนำ AI มาใช้งานมากสุด คือ ภาคการผลิต ค้าปลีกค้าส่ง การขนส่ง และการเงิน และการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะดิจิทัล จะสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาทใน ปี 2573
นายคาราน บาจวา Vice President, Asia Pacific, Google Cloud กล่าวว่า “จากผลวิจัยของเราพบว่า หากภาคส่วนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรม AI มาใช้งาน จะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมนั้นยังขาดความสามารถในการปรับขนาดและความยืดหยุ่นเพื่อรองรับความต้องการด้าน AI ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถของเทคโนโลยี Cloud AI ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับองค์กรโดยเฉพาะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้น เราจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบาย Go Cloud First เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ ในการเข้าถึงความสามารถเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว”
“ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เราจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปในการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ประชาชนในการสร้างและปรับใช้โซลูชัน Generative AI โดยใช้ความสามารถของ Cloud AI เรากำลังดำเนินการตามเสาหลักความร่วมมือทั้ง 4 ข้อ โดยเป้าหมายของเราคือการทำให้องค์กรต่างๆ ได้รับประโยชน์ที่มีอยู่อย่างมากมายจากการใช้งาน Generative AI เพื่อช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยและสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อคนไทยทุกคนได้อย่างรวดเร็ว”
ทุนเพิ่มทักษะดิจิทัล พร้อมเปิด 4 หลักสูตรใหม่
นางสาวศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Country Marketing Manager, Google ประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลกำลังแผ่ขยายไปทั่วประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ความต้องการด้านทักษะดิจิทัลก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้น การช่วยให้คนไทยเข้าถึงทักษะดิจิทัลได้มากขึ้นถือเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกโอกาสทางดิจิทัลให้กับทุกคน ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย จากรายงานผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจฉบับล่าสุด มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะต้องการแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลระดับสูงและระดับกลางเพิ่มอีก 600,000 คนภายในปี 2570 เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การลดช่องว่างด้านทักษะความสามารถทางดิจิทัลด้วยการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจไทยได้มากถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2573
ในเดือนตุลาคม 2565 Google ได้ประกาศเปิดตัวโครงการ “Samart Skills” ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทยภายใต้ Grow with Google เพื่อช่วยแก้ปัญหาช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลด้วยการเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะดิจิท้ลและนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในสายอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้มากขึ้น ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่จบหลักสูตรในโครงการ Samart Skills ไปแล้วจำนวน 5,500 คน โดย 85% ของผู้จบหลักสูตรได้รับโอกาสที่ดี อาทิ ได้งานใหม่ เลื่อนตำแหน่ง และปรับเงินเดือนใหม่ภายใน 6 เดือนหลังสำเร็จหลักสูตร
เนื่องจากความต้องการด้านทักษะดิจิทัลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Google จึงได้ประกาศมอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพที่ใช้หลักสูตร Google Career Certificates เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ไปจนถึงสิ้นปี 2567 ซึ่งทำให้มียอดรวมทั้งสิ้น 34,000 ทุน และเพื่อเป็นการรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน Google ได้เพิ่มหลักสูตรสาขาอาชีพใหม่อีก 4 หลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics) ธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) และการสร้างระบบอัตโนมัติด้านไอทีด้วย Python (IT Automation with Python) ทำให้ตอนนี้มีหลักสูตรทั้งหมด 9 หลักสูตร