Google ประกาศลงทุนไทย ดันเศรษฐกิจ AI สร้างผลประโยชน์ธุรกิจ 1.5 แสนล้าน

15 พ.ย. 2566 | 10:47 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2566 | 11:04 น.
553

Google ประกาศแผนขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทย 
พร้อมเริ่มโครงการหนุนเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์ ข้อตกลงความร่วมมือ 4 เสาหลัก มุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การเร่งส่งเสริมการใช้ AI ในภาครัฐอย่างมีความรับผิดชอบ และโครงการพัฒนาทักษะอาชีพด้าน AI

ซานฟรานซิสโก และกรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 (เวลามาตรฐานแปซิฟิค) – ในการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) วันนี้ รัฐบาลไทย และ Google ประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย และเร่งให้เกิดนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายใต้ข้อตกลงนี้ ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อวางรากฐาน 4 เสาหลักที่จำเป็นต่อการส่งเสริมประเทศไทยให้เติบโตในเศรษฐกิจ AI ซึ่งได้แก่ การต่อยอดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การส่งเสริมการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัยเพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐ การวางหลักเกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policies) และการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้มากขึ้น

Google ประกาศลงทุนไทย ดันเศรษฐกิจ AI สร้างผลประโยชน์ธุรกิจ 1.5 แสนล้าน

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการลงทุนของ Google ตลอด 12 ปีที่ดำเนินการในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565 ผลิตภัณฑ์และโครงการต่างๆ ของ Google สนับสนุนการจ้างงานในประเทศกว่า 250,000 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ภาคธุรกิจไทยกว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า “ความร่วมมือกับ Google เป็นก้าวสำคัญเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการปรับปรุงภาคส่วนต่างๆ ที่มีความสำคัญกับประชาชนชาวไทย ธุรกิจ และนักลงทุน ด้วยการลงทุนผ่านนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policies) พร้อมกับการสร้างไซเบอร์สเปซที่ปลอดภัย ความเชี่ยวชาญและการลงทุนจาก Google ในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมถึงการวิจัยทางด้านการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ การพัฒนาทักษะทางดิจิทัล และการรักษาความปลอดภัยของแพลตฟอร์มในระดับโลกจะช่วยให้ประเทศไทยทะยานสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพิ่มโอกาสสร้างงานที่มีมูลค่าสูง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน”

Google ประกาศลงทุนไทย ดันเศรษฐกิจ AI สร้างผลประโยชน์ธุรกิจ 1.5 แสนล้าน

รูธ โพรัท (Ruth Porat) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ของ Alphabet และ Google กล่าวว่า “การร่วมมือกับรัฐบาลในครั้งนี้มุ่งที่จะเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ใช้ระบบคลาวด์เป็นหลักเพื่อตอกย้ำพันธกิจของ Google ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด Leave no Thai Behind โดยเรามองเห็นศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีในการเป็นตัวขับเคลื่อนอันทรงพลังให้ธุรกิจและชุมชน ภายใต้ความร่วมมือนี้ เราจะร่วมกันกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาการให้บริการภาครัฐแก่ประชาชนและขยายการใช้งานเทคโนโลยี AI ด้วย Google Cloud และที่สำคัญ เราจะช่วยให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการเสริมทักษะและการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีนวัตกรรมเพื่อประชาชนและธุรกิจ ทั้งนี้ เราพร้อมร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทยเพื่อส่งมอบโอกาสที่สำคัญให้กับประชาชนชาวไทย”

เสาหลักที่ 1: การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย

Google กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลใหม่ภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนบริการดิจิทัล

ก่อนหน้านี้ Google Cloud ได้ประกาศแผนก่อตั้ง Cloud Region แห่งแรกในประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ในวันนี้ Google Cloud ยืนยันแผนก่อตั้ง Cloud Region ในประเทศไทยที่กรุงเทพฯ เมื่อ Cloud Region ในประเทศไทยเปิดให้บริการ จะทำให้เทคโนโลยีของ Google Cloud ใกล้ชิดกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บริการด้านดิจิทัลมีความเชื่อถือยิ่งขึ้น รองรับการขยายขอบเขตบริการได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีความเร็วสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าการก่อตั้ง Cloud Region ในประเทศไทยจะช่วยยกระดับผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.45 แสนล้านบาท แก่ GDP ของประเทศ และสร้างงาน 50,300 ตำแหน่งในปี พ.ศ. 2573

เสาหลักที่ 2: การเร่งให้เกิดการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบในส่วนภาครัฐ และการสร้างไซเบอร์สเปซที่มั่นคงรัฐบาล และ Google จะริเริ่มโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและใช้ AI อย่างกล้าหาญและมีความรับผิดชอบ ภายในกระทรวง หน่วยงานภาครัฐ และอุตสาหกรรมที่สำคัญต่างๆ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) และ Google Cloud จะร่วมกันศึกษาแนวทางการใช้งาน Generative AI (Gen AI) และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Google Cloud ในการใช้โซลูชันที่ขยายผลได้เพื่อผลประโยชน์ของภาครัฐ โดยจะให้ความสำคัญกับการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ เทคโนโลยีด้านการเงิน รวมถึงการพัฒนาภาคสาธารณสุข การศึกษา และการขนส่งมวลชนเป็นอันดับแรก

Google และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดตามวาระร่วมกันในเรื่องความก้าวหน้าด้าน AI ที่มีความรับผิดชอบ โดย Google จะให้การสนับสนุนด้านความเชี่ยวชาญทางนโยบายและ Secure AI Framework ของ Google เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับระบบ AI ต่างๆ  Google เป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่ให้คำมั่นสัญญาผ่านหลักการปัญญาประดิษฐ์ (AI Principles) และกำหนดขอบเขตการใช้งาน AI ที่ Google จะไม่ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยหลักการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ Google ยึดถือ และคอยกำหนดแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชันขั้นสูงในบริษัท

เพื่อช่วยให้องค์กรภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชนชาวไทยตระหนักถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและปกป้องพวกเขาจากอาชญากรรมไซเบอร์ และกิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตราย รัฐบาล และ Google Cloud จะดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และร่วมกันศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้ง National CyberShield Alliance ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถใช้ระบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์ ระบบข่าวกรองภัยคุกคาม และ AI ร่วมกันเพื่อตรวจหา ตรวจสอบ และร่วมกันป้องกันการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศด้วยวิธีการที่ซับซ้อน

เสาหลักที่ 3: การวางนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลักในประเทศไทย

Google Cloud จะสนับสนุนการพัฒนานโยบาย Go Cloud-first ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสำหรับประเทศไทย โดยจะให้ความช่วยเหลือด้านนโยบายและความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น ประหยัดค่าใช้จ่าย และขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมให้แก่ประเทศ นโยบายนี้ตอกย้ำความพยายามของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการใช้บริการคลาวด์ที่ดีที่สุดในการดำเนินการของรัฐบาลมากกว่าโซลูชันที่ใช้ทรัพยากรในสถานที่ตั้งของตนเองซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง โดยยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อระบุประเภทของข้อมูลที่อาจจำเป็นต้องจัดเก็บใน Google Distributed Cloud Hosted ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมของคลาวด์ที่เป็นส่วนตัวและมีมาตรการทางด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ตัดขาดการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์แบบ (Fully air-gapped)  

เสาหลักที่ 4: การทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลและระบบคลาวด์ได้มากขึ้น

โดยความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน    (BOI) Google มอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพของ Google เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ภายใต้โครงการ Samart Skills ที่ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ทำให้มียอดรวมทั้งสิ้น 34,000 ทุน เพื่อช่วยให้คนไทยได้พัฒนาทักษะพร้อมรับใบรับรองทักษะอาชีพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับงานระดับเริ่มต้นในสาขาที่มีความต้องการสูงอย่าง เช่น การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูล การสนับสนุนด้านไอที และอีคอมเมิร์ซและการตลาดดิจิทัล

Google Cloud ยังมอบหลักสูตร Introduction to Generative AI Path ให้แก่บุคคลทั่วไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านโครงการ Google Cloud Skills Program ซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรออนไลน์ที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Gen AI กับ AI ประเภทอื่น และการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ผู้เรียนที่สำเร็จหลักสูตรการเรียนรู้นี้จะได้รับป้ายรับรองแบบดิจิทัลซึ่งสามารถแสดงไว้ในเรซูเม่ของตนเองเพื่อแสดงถึงความเข้าใจขั้นพื้นฐานของ Gen AI