เป็นเพราะทั่วโลกให้ความสำคัญลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) ทำให้องค์กรใหญ่ ๆ ให้ความสำคัญการรักษาสิ่งแวดล้อมโลก นั่นจึงเป็นที่มาที่ AIS หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป หรือ CG ได้เชิญสื่อมวลชนมากกว่า 10 ชีวิต ร่วมทริป “AIS-CG INCLUSIVE GREEN TRIP IN JAPAN” ณ หมู่บ้านคามิคัตสึ (Kamikatsu) เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ที่เกาะชินโชกุประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งหมู่บ้านคามิคัตสึ มีประชากรเพียง 1,401 คน จำนวน 737 ครัวเรือน เป็นเมืองขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จเมืองต้นแบบ Zero Waste
AIS-CG ตั้งเป้าหมาย Net Zero เป็นศูนย์ในปี 2050
เป็นที่น่าสนใจทำไมสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการถึงให้ความสำคัญกับ Net Zero เรื่องนี้ได้รับคำตอบจาก นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ AIS กล่าวว่า วัตถุประสงค์การศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ที่เมืองคามิคัตสึ ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบปลอดขยะ (Zero Waste) เพื่อเป็นการซึมซับแนวคิด Zero Waste และกระบวนการจัดการขยะที่ทรงประสิทธิภาพและต่อเนื่องอย่างการแยกขยะมากถึง 45 ประเภท ผ่านหลักการพื้นฐานที่ทุกคนทำได้โดยการลดขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle) จนกลายเป็นเมืองต้นแบบที่ปลอดขยะระดับโลก พร้อมนำมาต่อยอดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050
นโยบายของ AIS นอกจากสร้างมาตรฐานของสินค้า บริการ นวัตกรรม และการดูแลลูกค้า ยังมีภารกิจในการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม สนับสนุนสู่ Sustainable Nation โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ใน 2 แกนหลัก
นั่นจึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนภารกิจคนไทยไร้ e-waste ในปี 2562 เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่ปี 2563 รณรงค์และเป็นช่องทางรับทิ้ง E-Waste ได้สะดวกกับประชาชนยิ่งขึ้น ผ่านศูนย์การค้าในกลุ่มเซ็นทรัลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 37 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงร้าน Power Buy ผู้นำธุรกิจค้าปลีกศูนย์รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าไอที มือถือ แก็ดเจ็ต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร รวม 40 สาขาทั่วประเทศ และผ่าน Application E-Waste Plus ที่เพิ่มเติมเข้ามา อันเป็นการร่วมเสริมพลังกับ 190 องค์กร ขับเคลื่อน HUB of e-waste ศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะแห่งแรกของไทย ที่มีทั้งความรู้ เครือข่ายที่มาช่วยกันแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ การขยายจุดรับทิ้งให้ครอบคลุม การบริการด้านการขนส่ง และการรีไซเคิลสู่กระบวนการ Zero e-waste to landfill
ขณะที่นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้เป็นการสานต่อจากโครงการ การทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี ซึ่งทาง กลุ่มเซ็นทรัล มุ่งมั่นสานต่อเจตนารมย์ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านโครงการ “เซ็นทรัล ทำ - ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” โครงการเพื่อความยั่งยืนดำเนินการโดยกลุ่มเซ็นทรัล ผ่าน 6 แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน
การเดินหน้าภารกิจศึกษาแนวคิด และกระบวนการจัดการขยะ ในครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัท เห็นพ้องตรงกันว่า เราจะร่วมมือกันทำ ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน ที่อยากเห็นประเทศไทยมีโมเดลต้นแบบในการ คัด แยก ทิ้งขยะ ได้อย่างถูกที่และถูกวิธี และยังเป็นการลดการฝังกลบขยะที่จะก่อให้เกิดปัญหาอีกมากมาย พร้อมสร้างพฤติกรรมการใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นถัดไป
เผยจุดเริ่มต้นเมืองปลอดขยะ
นายซาโตชิ โนโนยามะ CEO บริษัท Pangaea เป็นบริษัทที่รับผิดชอบส่วนของ Academy การศึกษาดูงาน เรื่อง Zero waste ที่คามิคัตสึ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นเมืองต้นแบบปลอดขยะที่หลายคนทั่วโลกอยากค้นหา ว่า ย้อนไปเมื่อปี 1997 หมู่บ้านไม่สามารถใช้เตาเผาขยะได้ เนื่องจากมีกฎหมายออกมาบังคับห้ามเผาขยะ ทำให้รูปแบบการกำจัดขยะต้องรวบรวมใส่ตู้คอนเทนเนอร์ไปกำจัดที่ จ.ยามากุจิ ซึ่งเป็นจังหวัดที่สามารถรับกำจัดขยะได้ ทว่า ด้วยต้นทุนในการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ที่มีค่าใช้จ่ายต่อตู้ถึง 170,000 เยน และใช้เวลาเพียง 2 วัน ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวก็เต็มแล้ว ทำให้หมู่บ้านต้องใช้งบประมาณรัฐในการกำจัดขยะปีละกว่า 30 ล้านเยน
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ หมู่บ้านคามิคัตสึ ต้องมีการวางแผนในการกำจัดขยะให้มีปริมาณน้อยลง เริ่มด้วยการแยกขยะเป็น 33 หมวดหมู่ เพื่อทำขยะให้กลายเป็นเงิน มีการนำเงินของรัฐสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนมีถังหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร โดยประชาชนออกเงินเพียงบางส่วน ทั้งนี้เพื่อให้ขยะเหลือน้อยที่สุด และในปี 2003 จึงได้ออกปฏิญญาขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste)
ปัจจุบันหมู่บ้านคามิคัตสึ สามารถแยกขยะได้ 45 ประเภท และสร้างรายได้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 880,000-2,000,000 เยน สามารถแยกขยะได้ 81% ส่วนอีก 19% ไม่สามารถกลับมาทำรีไซเคิลได้ คือ ขยะอันตราย เช่น ผ้าอ้อม หนังยาง และ รองเท้า เป็นต้น
• คามิคัตสึ คือเมืองในจังหวัดโทคุชิมะ ที่ตั้งอยู่บนเกาะชิโกกุทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น ที่มีจำนวนคนเพียง 1,401 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 1 ต.ค. 2023) โดยมีสัดส่วนเป็นผู้สูงอายุ เป็น 52.25%
• เมืองคามิคัตสึ มีพื้นที่ขนาด 109.63 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ป่าไม้ 88% และ 80% เป็นป่าปลูก); สูงจากระดับน้ำทะเล 100-700 เมตร
• คามิคัตสึ เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องปลอดขยะและการจัดการขยะอันดับต้นๆของโลกและเป็นต้นแบบการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน จนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่เรียนรู้ของคนที่รักสิ่งแวดล้อม.