ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ (ขยายผล) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย รวมถึงเจ้าของตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ สามารถพัฒนาสู่การแข่งขันรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
โดยดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 25 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ราชบุรี สระบุรี ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และนครศรีธรรมราช
โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ (ขยายผล) เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ผ่านการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสำรวจความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการ 75 ตลาดในพื้นที่ 25 จังหวัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการและกิจกรรมจัดแสดงเทคโนโลยีดิจิทัล เปิดโอกาสให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่กับดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัล รวมถึงการสร้างตลาดต้นแบบด้านดิจิทัล โดยลงพื้นที่พบปะกับผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค และกิจกรรมยกระดับทักษะและองค์ความรู้ด้านดิจิทัลในการประกอบธุรกิจผ่านหลักสูตรออนไลน์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ (ขยายผล) ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยมและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 13,200 รายจาก 75 ตลาดใน 25 จังหวัด สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีผู้ประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย เพชรบุรี 594 ราย ปทุมธานี 578 ราย และระยอง 567 ราย ขณะที่พื้นที่ตั้งร้านค้าที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ตลาดนัด จำนวน 5,637 ร้าน ตลาดสด จำนวน 4,290 ร้าน และตลาดโต้รุ่ง จำนวน 922 ร้าน
โดยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่ม Services เฉลี่ย 44.53% กลุ่ม E-Payment เฉลี่ย 28.73% และกลุ่ม Logistics/Delivery เฉลี่ย 17.84% ส่วนการจัดอบรมหลักสูตรออนไลน์ จำนวน 5 หลักสูตรที่เปิดระบบระหว่างเดือนเมษายน – สิงหาคมที่ผ่านมามียอดการเข้าชมมากกว่า 850,000 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 41,000 ราย ซึ่งนับเป็นการสานต่อภารกิจ พลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากด้วยดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ ทั้งเฟส 1 และเฟส 2 (ขยายผล) สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ 35 จังหวัด ซึ่งก้าวต่อไป ดีป้า จะดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบอย่างมั่นคงและยั่งยืน