“ดีป้า”คิกออฟ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ เปลี่ยนซื้อขายสู่ออนไลน์

12 พ.ย. 2564 | 17:28 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2564 | 00:40 น.

ดีป้า เปิดตัวโครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ พร้อมเดินหน้าติดอาวุธดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำร่องพื้นที่ 6 จังหวัด ครอบคลุมผู้ประกอบการ 30,000 ราย เล็งขยายการรับรู้สู่ปริมณฑล 4 จังหวัด และเตรียมเดินหน้าเฟส 2 อีก 25 จังหวัดทั่วประเทศ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลได้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน

“ดีป้า”คิกออฟ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ เปลี่ยนซื้อขายสู่ออนไลน์

โดยมี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ของตนเองได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค โดยปรับเปลี่ยนสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้มีความพร้อมรับมือกับความท้าทายดังกล่าว และพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่ง ดีป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ จึงได้ดำเนินโครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ให้สามารถปรับเปลี่ยนทุกการซื้อ–ขายสู่ระบบออนไลน์ ปรับทุกไลฟ์สไตล์สู่สังคมไร้เงินสด พลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการก้าวข้ามวิกฤตโควิด–19 โดยคาดว่า การดำเนินงานในเฟสแรกจะช่วยสร้างรายได้มากกว่า 300 ล้านบาท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

 

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย สามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ สร้างโอกาสทางการตลาด เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและจัดส่งสินค้า พัฒนาสู่การแข่งขันรูปแบบใหม่บนพื้นฐานของการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน เริ่มดำเนินการในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ นครปฐม ชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี ครอบคลุมผู้ประกอบการ จำนวน 30,000 รายตั้งเป้าขยายการรับรู้สู่ปริมณฑลเพิ่ม 4 จังหวัด

  “ดีป้า”คิกออฟ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ เปลี่ยนซื้อขายสู่ออนไลน์

สำหรับโครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ แบ่งการดำเนินงานหลักออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย

 

ระยะที่ 1 เดือนมิถุนายน 2564 ดำเนินการคัดเลือกและระดมดิจิทัลสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ให้บริการดิจิทัล (ดิจิทัลโพรไวเดอร์) สัญชาติไทย ครอบคลุม 6 กลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบการซื้อขายออนไลน์ ได้แก่ ระบบรับชำระเงินออนไลน์ (E-payment) ระบบจำลองการสนทนา (Chatbot) ระบบการสั่งอาหารหรือสินค้า (Delivery) ระบบการขนส่งสินค้า (Logistics) ระบบบริหารจัดการจุดขาย (Point Of Sales: POS) และระบบบริการ (Service) จับคู่ธุรกิจกับเอสเอ็มอี ร้านค้า หาบเร่ และแผงลอย เพื่อสร้างแพลตฟอร์มช่องทางการจำหน่ายและจัดส่งสินค้า (Local Application)

 

ระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไปจะเป็นการอบรมหลักสูตรออนไลน์เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ

 

ระยะที่ 3 ดีป้าร่วมกับดิจิทัลสตาร์อัพเริ่มจัดทัพลงพื้นที่จัดกิจกรรมตลาดต้นแบบใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ นครปฐม ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และขบวน Troop ลงพื้นที่ส่งเสริมการใช้ Local Application

 

และ ระยะที่ 4 ช่วงต้นปี 2565 จะจัดงาน Showcase ที่กรุงเทพฯ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจในเมืองหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป พร้อมแลกเปลี่ยนบทเรียนการแปลงโฉมตลาดสดทั้ง 6 จังหวัด เป็นตลาดสดยุควิถีใหม่เต็มรูปแบบ

 

“การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงวิกฤตโควิด–19 ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางการตลาด ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย ดีป้า คาดหวังว่า โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ จะเป็นโครงการที่สามารถต่อยอดไปสู่พื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยคาดว่า ปี 2565 จะมีแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงร้านค้าอีก 65,000 ราย และสร้างตลาดต้นแบบด้านดิจิทัล ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศในอีกกว่า 20 จังหวัด ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้กับบรรดาผู้ประกอบการไทย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต”ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว