บอร์ด กสทช. ร่วมประชุม GSMF 2023 ที่ประเทศเกาหลี

13 ก.ย. 2566 | 10:26 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2566 | 10:40 น.

บอร์ด กสทช. ร่วมประชุม GSMF 2023 พร้อมประชุมหารือกับผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อนำผลประชุมมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขับเคลื่อนกิจการโทรคมนาคมในประเทศ

เมื่อวันที่ 5 – 7 กันยายน 2566 ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ และกสทช. พลตำรวจเอก ดร. ณัฐธร เพราะสุนทร พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงาน กสทช. ได้เข้าร่วมการประชุม Global Spectrum Management Forum (GSMF) 2023 การประชุม GSMA Mobile 360 APAC and Policy Leaders Forum 2023 การประชุมหารือกับผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมของสาธารณรัฐเกาหลี และการเข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

การเข้าร่วมการประชุม Global Spectrum Management Forum (GSMF) 2023 เป็นการประชุมที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกลางบริหารจัดการวิทยุกระจายเสียง Central Radio Management Service (CRMS) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Ministry of Science and ICT: MSIT) สาธารณรัฐเกาหลี การประชุมดังกล่าวมีเนื้อหาการประชุมที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติในการตรวจสอบคลื่นความถี่ของสาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงแนวทางในการปรับใช้คลื่นความถี่ในย่าน 600 MHz ที่มีแผนปรับการใช้งานจากกิจการโทรทัศน์ มาใช้ในกิจการ IMT ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลี มุ่งเน้นการใช้งานคลื่นความถี่ในย่าน High band เพื่อรองรับการใช้งานกิจการ IMT เป็นหลัก 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังนำเสนอแผนการบริหารจัดการคลื่นความถี่ในอนาคตของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) อาทิ แผน IMT-2030 ที่มุ่งพัฒนาคลื่นความถี่ที่รองรับการใช้งานเทคโนโลยี 6G รวมไปถึงการพัฒนาการใช้งานระบบ UAM และ Drone รวมถึงการพัฒนาการใช้งาน Local 5G ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีได้นำการใช้งานเครือข่ายส่วนตัวไปพัฒนาในหลายภาคส่วน อาทิ กิจการทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิต และระบบพลังงาน เป็นต้น โดยในปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ได้ให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการศึกษาคลื่นความถี่ในย่านต่างๆเพื่อรองรับการใช้งานเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตในอนาคต

การเข้าร่วมการประชุม GSMA Mobile 360 APAC and Policy Leaders Forum 2023เป็นการประชุมใหญ่ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จัดขึ้นโดยหน่วยงาน The GSM Association (GSMA)มีผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้นำสูงสุดของหน่วยงานกำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม และหน่วยงานภาคเอกชน วาระการประชุมในครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการออกนโยบายการพัฒนาทางเทคโนโลยี และการหลอมรวมทางเทคโนโลยีดิจิทัลของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากการประชุมดังกล่าว สำนักงาน กสทช. ได้รับทราบถึงนโยบายการขับเคลื่อนทางดิจิทัลของสาธารณรัฐเกาหลี ที่มุ่งไปสู่การเป็น “World Leading Nation in Network” ผ่านการเป็นประเทศผู้นำในการใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 6G และ การใช้ดาวเทียมวงโคจรต่ำ  (Low Satellite Orbit) มาใช้ในกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้เป็นความร่วมมือของรัฐและเอกชน

บอร์ด กสทช.ร่วมประชุมกับผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมของสาธารณรัฐเกาหลี

 

บอร์ด กสทช.ร่วมประชุมกับผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมของสาธารณรัฐเกาหลี

บอร์ด กสทช.

นอกจากนี้ ประธาน กสทช. ยังได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลม (Roundtable) ในเรื่องการกำหนดราคาของคลื่นความถี่ และประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาโครงข่าย 5G ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงาน GSMA และผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลประเทศต่างๆ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้งานโครงข่าย 5G จะเพิ่มมากกว่า 600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับเศรษฐกิจโลก 

การประชุมหารือร่วมกับผู้แทนบริษัท SK Telecom (SKT) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีและโทรคมนาคมรายใหญ่ของสาธารณรัฐเกาหลี Mr. Sukham Sung (Ph.D.), Vice President, Policy Cooperation Office ได้นำเสนอข้อมูลการดำเนินการของบริษัทฯ ในด้าน AI Innovative Service ของ SKTที่มุ่งมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจากธุรกิจหลักของบริษัท และมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนและวางตำแหน่ง SKT ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม AI ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คณะผู้แทนสำนักงาน กสทช. ยังได้หารือร่วมกันในประเด็นความท้าทายในการกำกับดูแลและการคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้งานเทคโนโลยี AI ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไปในอนาคตและอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อผลักดันเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาการใช้งานบริการขนส่งแบบ UAM (Urban Air Mobility) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการขนส่งด้วยระบบอัตโนมัติ SKT เป็นผู้นำในการพัฒนาการให้บริการ UAM ของสาธารณรัฐเกาหลีและมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการใช้ UAM เพื่อพัฒนาระบบคมนาคมและการขนส่ง SKT มีแผนที่จะนำ UAM มาใช้งานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ ของสาธารณรัฐเกาหลี อาทิ คิมโพปูซาน และเกาะเชจู ภายในปี ค.ศ. 2025 นอกจากนี้ผู้แทนของสำนักงาน กสทช. ยังได้เชิญชวนให้บริษัท SKT เข้ามาทดลองการใช้งานระบบขนส่งแบบ UAM ในจังหวัดภูเก็ตของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งทางบริษัทได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

การเข้าเยี่ยมคารวะ นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ในระหว่างการเข้าพบหารือฯ มีประเด็นเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริมความร่วมมือไทยและสาธารณรัฐเกาหลีในด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยผู้แทนสำนักงาน กสทช. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานระหว่างสำนักงาน กสทช. และหน่วยงานต่างๆของสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมทั้งหารือในเรื่องโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับการใช้งานและการเติบโตของเทคโนโลยีใหม่

ของประเทศไทยในอนาคต อาทิการพัฒนาโครงข่าย WiFi 6E บนย่านความถี่ย่านใหม่ 6 GHz ที่หลายประเทศ เริ่มทดลองใช้ในปัจจุบัน โดย นายวิชชุฯ ได้กล่าวสนับสนุนว่าการเติบโตของเทคโนโลยีใหม่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและได้กล่าวถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีแผนจะเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญต่อประเทศไทยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.