ลึก บอร์ด กสทช.วงแตก เพิ่มรองเลขาฯ 8 ตำแหน่ง รายจ่ายพุ่ง 10 ล้าน

10 ส.ค. 2566 | 13:33 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2566 | 13:42 น.
1.5 k

ลึก บอร์ด กสทช. เสียงแตก ประธานหักดิบปิดประชุม เสนอปรับโครงสร้าง กสทช.รอบใหม่ เพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. จาก 5 ตำแหน่ง เป็น 8 ตำแหน่ง รับเงินเดือน 2.5 แสน รายจ่ายพุ่งกว่า 10 ล้านบาท

การประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 เป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณบุญใบชัยพฤษ์ ประธาน กสทช. หักดิบบอร์ด กสทช. ปิดประชุมกะทันหัน หลังที่ประชุมถกเถียงวาระปรับโครงสร้าง กสทช.วาระที่ 4.43 (ร่าง) โครงสร้างของสำนักงาน กสทช.  (ลับ)  ทั้งที่ๆ บอร์ดมีวาระประชุมพิจารณาถึงเวลา 16.30 น.

ตามวาระพิจารณาที่ 4.43 (ร่าง) เรื่องโครงสร้างของสำนักงาน กสทช. โดยที่ประชุมได้ใช้เวลาถกเถียงเกี่ยวกับกรณีประธาน กสทช. ได้ขอให้มีการไปทบทวนมติของ กสทช. ในเรื่องเดียวกัน เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นสมัยของบอร์ดชุดที่แล้วก่อน โดยย้ำว่าจะต้องใช้เสียงกรรมการไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อพิจารณา ตามข้อ 45 ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ซึ่งในประเด็นนี้ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

แหล่งข่าวจาก กสทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ที่ประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณบุญใบชัยพฤษ์ ประธาน กสทช.ได้ตั้งคำถามต่อบอร์ด กสทช.ไปหลายข้อด้วยกัน ในส่วนเรื่องการโหวต ประธาน กสทช.ได้มีการถามว่าหากเป็นสมัยก่อนมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เป็นไร หากเป็นการไม่เห็นด้วย ต้องเป็นการกลับมติเดิมที่เคย ปรับโครงสร้างไว้ คือใช้ เสียง 2 ใน 3 ใช่หรือไม่ เพราะถ้าใช้ดุลยพินิจเสียงข้างมากทั้งหมด จะบริหารองค์กรอย่างไร จะให้เปลี่ยนโครงสร้างทุก 6 เดือนก็คงไม่ใช่ และ บอร์ด กสทช. เพิ่งเข้ามาทำงานกว่า 1 ปี ยังบอกไม่ได้ว่า การปรับโครงสร้างแก้ปัญหาตรงไหน โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งและกำลังคน  ขณะที่โครงสร้างใหม่ควรให้คณะอนุกรรมการบริหารบุคคล และ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ทำการตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อน

“ประธาน กสทช. ไม่ได้บอกไม่เห็นด้วย แต่ไม่แน่ใจ เพราะหลายคำถามยังไม่ได้รับคำตอบ” แหล่งข่าวกล่าว

 

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณบุญใบชัยพฤษ์ ประธาน กสทช.

สำหรับโครงสร้างใหม่ที่มีการเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช. พิจารณาที่สำคัญคือ ตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช.เดิมมี 5 คน โครงสร้างใหม่เพิ่มเป็น 8 คน ขณะที่ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช.จากเดิม 6 คน ลดลงเหลือ 3 คน ส่วนผู้อำนายการสำนัก/เทียบเท่าเดิมจำนวน 53 คน ลดลงเหลือ 49 คน และ ผู้อำนวยการส่วน/เทียบเท่าเดิม 293 คน เพิ่มเป็น 300 คน

ตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. ตามโครงสร้างใหม่ที่เสนอให้ที่ประชุมจะดูแล 8 สายงาน ดังนี้ 1. สายงานวิชาการ 2. สายงานแผน 3. สายงานการอนุญาต 4. สายงานส่งเสริมและคุ้มครอง 5. สายงานกฎหมายและกำกับดูแล 6. สายงานปฏิบัติการภูมิภาค 7. สายงานบริหารองค์กร และ 8. สายงานสนับสุนองค์กร

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตุว่าการเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. ตามโครงสร้างใหม่จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาทต่อปี เพราะหากพิจารณาจากอัตราเงินเดือนรองเลขาธิการ กสทช.สูงสุด 250,000 บาท หากคำนวณโครงสร้างใหม่ที่เพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. จาก 5 คนเป็น 8 คน กททช.จะต้องจ่ายเงินเดือนเฉพาะตำแหน่งรองเลขากสทช. เพิ่มจาก 1.25 ล้านบาทต่อเดือนเป็น 2 ล้านบาทต่อเดือน หรือจาก 15 ล้านบาทต่อปีเป็น 24 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้น 9 ล้านบาทต่อปี เมื่อรวมกับเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายอื่นๆจะทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาท

ขณะเดียวกันโครงสร้างใหม่ยังได้มีการเสนอให้มีการควบรวมสายงานโทรคมนาคม สายงาน กิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มาอยู่ในสายงานเดียวกัน แต่ กรรมการ กสทช.หลายคนเห็นว่า หลังควบรวมแล้วจะมีการโอนถ่ายภาระกิจเดิมของแต่ละสายงานอย่างไร จะกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นคำถาม 22 ข้อที่ประธานกสทช.ได้สอบถามถึงเหตุผลการปรับโครงสร้างครั้งนี้แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ดังนี้

1. เป้าหมายหลักของการปรับโครงสร้าง คืออะไร

2. ใช้หลัก ทฤษฎี อะไรในการปรับ เช่น OKRs (Objective Key Results) 3C? 7C? Framework

3. การปรับครั้งนี้มี การประเมิน SWOT analysis  อย่างไร ทั้งก่อนและหลัง ปรับ

4. การปรับ ครั้งนี้ มีผลต่อการทำงบประมาณอย่างไร

5. การปรับ ครั้งนี้ มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างไร

6. การปรับ เปลี่ยนครั้งนี้มีต้นทุน แฝงเท่าไหร่ และ ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง

7. การปรับ ครั้งนี้ มีการทำ Process analysis อย่างไร

8. การปรับ ครั้งนี้ สามารถให้บริการประชาชนได้ดีขึ้นอย่างไร

9. การปรับ ครั้งนี้ สามารถ สนับสนุนให้เกิด digital transformation อย่างไร

10. การปรับ ครั้งนี้เทียบเคียงกับ หน่วยงานของต่างประเทศอย่างไร

11. การปรับ ครั้งนี้ ประเมิน Job Specification ของ บุคคลากร อย่างไร

12. การปรับ ครั้งนี้ มีผลกระทบต่อความคิดของ พนักงานอย่างไร

13. การปรับ ครั้งนี้ ทำการสำรวจความเห็น หรือไม่ มีไม่เห็นด้วยไหม และมีสัดส่วนเท่าไหร่

14. การปรับ ครั้งนี้มีการทำ work load analysis ไหม

15. การปรับ ครั้งนี้มีการศึกษา วิเคราะห์ อัตรากำลัง ให้ตรงกับ ภารกิจใหม่ไหม

16. การปรับ ครั้งนี้มี กี่สายงานต้องเปลี่ยนภารกิจ เพิ่มลด อย่างไร

17. การปรับ ครั้งนี้มี กี่สำนัก ต้องเปลี่ยนภารกิจ และ เพิ่มลด อย่างไร

18. ขอให้ช่วยยกตัวอย่าง work process ของ ผังใหม่ที่จะปรับ เมื่อเปรียบเทียบกับ ผังเก่า

19. ใครเป็นผู้รับผิดชอบแผนการปรับเปลี่ยน

20. มีแผนสำรอง เพื่อรองรับข้อผิดพลาดไหม

21. กรอบระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน มีความเป็นไปได้อย่างไร

22. การปรับเปลี่ยน มีอุปสรรคอะไรที่คาดการณ์ได้บ้าง.