ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อใหญ่อย่าง สำนักข่าวเอพี ประกาศจับมือกับ บริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ผู้พัฒนาบอตปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะอย่าง ChatGPT ร่วมกันมองหาความเป็นไปได้สำหรับการนำ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI)ใน วงการข่าว โดยเอพีจะเปิดทางให้ OpenAI สามารถใช้ข้อมูลข่าวในอดีตของสำนักข่าวแห่งนี้ ในโครงการความร่วมมือเเสวงหา “ความเป็นไปได้” ที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ในธุรกิจข่าว
ฝึก AI เรียนรู้จากบิ๊กดาต้าของสำนักข่าว
โดยผลประโยชน์ที่เอพีจะได้รับ คือการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของ OpenAI ด้านการบริหารจัดการธุรกิจข่าวสาร ขณะที่ OpenAI ก็สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเอพี ซึ่งน่าจะช่วยฝึก “ระบบการเรียนรู้” ของโปรเเกรมเอไอที่บริษัทเทคโนโลยีแห่งนี้คิดค้นพัฒนาขึ้นมา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างสำนักข่าวเอพี และ OpenAI อาจเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้สำนักข่าวอื่น ๆ ในการจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีด้านนี้ ซึ่งเป็นการจับมือแบบข้ามอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมข่าว ยังลังเลที่จะนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์มาใช้ เนื่องจากยังมีคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากเอไอ รวมทั้งความท้าทาย หากว่าจะต้องเเยกเเยะระหว่างข้อมูลที่ถูกทำขึ้นโดยบอต (เอไอ) และมนุษย์
อย่างไรก็ตาม คริสติน ไฮต์แมน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสของสำนักข่าวเอพีกล่าวว่า องค์การข่าวต้องมีบทบาทในบทสนทนาเรื่องเอไอ "เพื่อว่าห้องข่าวไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะได้สามารถนำประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้มาใช้กับการทำข่าว"
เข้ามาช่วยเหลือ-ส่งเสริม ไม่ได้เข้ามาแทนที่
ดูเหมือนว่าทรรศนะดังกล่าว จะสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของบริษัทเทคโนโลยีอีกรายหนึ่ง คือ กูเกิล ซึ่งล่าสุด (19 ก.ค.) โฆษกของบริษัทออกมาเปิดเผยว่า กูเกิลเองก็กำลังสำรวจการใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการเขียนบทความข่าว และอยู่ระหว่างการเจรจากับสำนักข่าวต่าง ๆ เพื่อใช้เครื่องมือเหล่านั้นช่วยเหลือนักข่าวในการทำงาน
แม้ว่าในขั้นเบื้องต้นนี้ กูเกิลจะยังไม่ได้เปิดเผยชื่อของสำนักพิมพ์ที่ไปติดต่อขอเจรจาความร่วมมือ แต่หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ ก็มีการรายงานว่า กูเกิลได้พบปะหารือกับหนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์ (Washington Post) และนิวส์ คอร์ป (News Corp) ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รวมถึงหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ และอื่นๆด้วย
ทั้งนี้ โฆษกของกูเกิลระบุว่า เครื่องมือ AI เหล่านี้ สามารถช่วยเหลือนักข่าวในการทำงาน ด้วยการนำเสนอตัวเลือกสำหรับหัวข้อข่าว หรือสไตล์การเขียนที่แตกต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่น การเขียนข่าวในรูปแบบที่ยกระดับชิ้นงานและประสิทธิภาพการทำงานของเหล่านักข่าว และเสริมว่า ตอนนี้การสำรวจแนวคิดเหล่านี้ยังเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น
โฆษกของกูเกิลยังกล่าวถึงประเด็นที่มีผู้แสดงความกังวลว่าในอนาคตเอไออาจเข้ามาแทนที่หรือแย่งงานสื่อมวลชน โดยระบุว่า "เครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อแทนที่ และไม่สามารถเข้ามาแทนที่บทบาทที่สำคัญของนักข่าวในการรายงาน สร้างสรรค์งาน และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทความของตนเองได้"
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบางคนที่ได้ฟังการนำเสนอของกูเกิลระบุว่า เครื่องมือดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลอยู่ดี
หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า เครื่องมือ AI ที่กูเกิลกำลังนำเสนอนี้ มีชื่อเรียกเป็นการภายในว่า เจเนซิส (Genesis) ขณะเดียวกัน นิวส์ คอร์ป ซึ่งเป็นเจ้าของนิวยอร์ก ไทมส์ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวที่ว่ากูเกิลสนใจเข้าหารือความร่วมมือด้าน AI เพียงแต่ระบุว่า "เรามีความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมกับกูเกิล และเราขอขอบคุณ คุณซันดาร์ พิชัย (ซีอีโอของกูเกิล) ที่ทุ่มเทให้กับงานด้านสื่อสารมวลชนมาอย่างยาวนาน"
ตอนนี้ยังไม่ แต่อนาคตต้องดูกันต่อไป
แม้ว่างานของนักเขียน หรือ writers ซึ่งครอบคลุมถึงการเขียนทุกประเภทรวมทั้งการเขียนข่าว จะเป็นหนึ่งในหกสาขาอาชีพที่มีสิทธิ์จะถูกแทนที่ด้วย AI โดยนักวิจัยกล่าวว่า นักเขียนทุกประเภทมีสิทธิ์ตกงานเพราะ AI ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนเขียนบทความ พนักงานในบริษัทโฆษณา หรือแม้กระทั่งนักข่าว เพราะเอไอบอตอย่าง ChatGPT สามารถสร้างแนวคิดขึ้นได้เองและถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือได้ภายในไม่กี่วินาที แต่ก็เชื่อว่า AI จะยังไม่สามารถแทนที่การเขียนของมนุษย์ได้ทั้งหมด
อานิล เวอร์มา (Anil Verma) ศาสตราจารย์กิตติคุณจากวิทยาลัยการจัดการร็อธแมน แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ในแคนาดา ให้ความเห็นว่า งานทางด้านนี้ยังต้องการมนุษย์ในการตรวจทานงานเขียนของ AI และเรียบเรียงเนื้อความให้ออกมาน่าสนใจ
“สมมติว่าคุณเป็นนักข่าว ChatGPT จะช่วยงานคุณได้มากเลย มันสามารถช่วยงานวิจัยเบื้องหลังได้ และสรุปข้อมูลได้ แต่เรายังต้องคอยตรวจสอบข้อเท็จจริง และเรียบเรียงให้เป็นเรื่องราวอีกขั้นหนึ่ง และงานนี้จะต้องเป็นนักข่าวที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเท่านั้นถึงจะทำได้”
ข้อมูลอ้างอิง