Chat.pLearn AI เพื่อการศึกษาตั้งเป้าผงาดเอเชีย

24 มิ.ย. 2566 | 15:59 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2566 | 16:06 น.

Chat GPT หรือ โมเดลปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง (AI) ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ด้วยความฉลาดล้ำ สามารถสนทนากับมนุษย์ในเรื่องที่ซับซ้อน หรือตอบสนองต่อคำสั่งที่หลากหลาย ปัจจุบันนักพัฒนาต่างนำโมเดลแบบ Chat GPT มาปรับใช้เพื่อการใช้งานที่หลากหลาย

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทีมนักศึกษาจากสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ SCII ที่พัฒนา Chat.pLearn ระบบการเรียนการสอนแบบ on demand ที่นำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาเพื่อการศึกษา

นายวงศพัทธ์ กุลกิจกำจร และนายธีรภัทร ลีฬหนันทน์ นักศึกษา สถาบัน SCII กล่าวว่า “Chat.pLearn” ระบบการเรียนการสอนแบบ on demand ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะอนาคต (Future Skill) ซึ่งเป็นเนื้อหาแบบเดียวกับที่สอนในสถาบัน และเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยในการเรียนการสอนสำหรับครู โดยใส่ข้อมูลความรู้ลงไปในระบบได้

Chat.pLearn  AI เพื่อการศึกษาตั้งเป้าผงาดเอเชีย

ในระบบ Chat.pLearn จะแบ่งออกเป็นบทเรียนต่างๆ และมีชุดคำถาม-คำตอบ เพียงพิมพ์ข้อความเข้าไป ระบบนั้นก็จะตอบโต้โดยส่งข้อมูล ภาพ วิดีโอ หรือบททดสอบกลับมายังผู้ใช้งาน จนกว่ากระบวนการเรียนรู้ในวิชานั้นจะจบ ซึ่งวิธีใช้งานง่ายและสะดวก เพราะใช้งานง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ ในระบบแชท LINE

ทั้งนี้โครงการนี้ มีการทดลองนำไปใช้ในโรงเรียนต่างๆ บ้างแล้ว ได้เสียงตอบรับที่ดี แต่สิ่งที่น้องๆ ต้อง การคือหมวดความรู้ที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ศึกษาเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งทีมงาน Chat.pLearn ก็จะนำไปพัฒนาต่อไป

แผนงานหลังจากนี้ ทีมงานจะรวบรวมหนังสือจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้มีหมวดความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่ด้านทักษะอนาคตตามที่ตั้งเป้าแต่แรกเท่านั้น โดยขณะนี้กำลังพูดคุยกับบริษัท Pearson จากอังกฤษ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือและตำรารายใหญ่ของโลก เพื่อร่วมมือกันนำหนังสือในเครือ Pearson เข้ามาสู่ระบบ AI

ส่วนแผนงาน Chat.pLearn หลังจากนี้เพื่อยกระดับการศึกษาของเด็กไทย และให้ธุรกิจเติบโต ทีมงานจะเจาะกลุ่มการใช้งานในโรงเรียนระดับจังหวัดก่อน เมื่อได้รับความนิยมก็จะผลักดันไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่ออนุมัติงบประมาณให้โรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะต่างจังหวัด ได้จัดซื้อระบบ Chat.pLearn ให้นักเรียนใช้งาน และเป็นเครื่องมือการเรียนการสอนของครูด้วย

โดยเวลานี้ที่ Chat.pLearn เริ่มเปิดตัวถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะอยู่ในช่วงที่ Chat GPT กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก แต่ก็มาพร้อมกับผู้ประกอบการ หรือนักพัฒนาเจ้าอื่นที่นำเทคโนโลยี Generative AI มาใช้ในอุตสาหกรรมการศึกษามากขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้เป้าหมายระยะยาวของ Chat.pLearn คือ มุ่งสู่การเป็น Startup เพื่อการศึกษา ที่มีผู้ใช้งานทั้งในและต่างประเทศด้วย โดยเป้าหมาย คือ ระดับเอเชีย โดยคาดว่าหลังจากนี้เพื่อพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานและสร้างเนื้อหาให้ครอบคลุมตรงตามความต้องการผู้ใช้ ก็จะเริ่มเปิดตัว Chat.pLearn ให้ได้เริ่มใช้ งานในต้นปีหน้า

ในมุมมองเรื่องศักยภาพของไทยในการสร้างผู้ประกอบการที่จะเป็นยูนิคอร์น กลุ่มนักพัฒนา Chat.pLearn มองว่าที่ผ่านมา ไทยเราผลักดันผู้ประกอบการพอสมควร เพราะมีทั้งเรื่องการให้ทุนสำหรับสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แต่ภาพ รวมจำนวนผู้ให้ทุนยังน้อย เมื่อเทียบกับประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ที่มีทุนสนับสนุนจากหลายแหล่งมากกว่า

อีกปัจจัยที่ทำให้ Startup นั้นประสบความสำเร็จ คือ ความสามารถของแรงงานที่มีทักษะสูง และจำนวนผู้ใช้งานที่ต้องมากพอ เวลานี้ในกลุ่มอาเซียน “สิงคโปร์” ถือว่าเป็นผู้นำด้านนี้ และถูกยกย่องให้เป็น “Startup Hub” เพราะมีแรงงานทักษะสูงจากทั่วโลกมารวมตัวกัน จึงมีความหลากหลาย ส่วนอีกประเทศ คือ “อินโดนีเซีย” ที่ได้เปรียบในแง่ที่จำนวนประชากรของเขาเยอะกว่าเรามาก

ทีมนักศึกษาที่พัฒนา Chat.pLearn มี 4 คน ประกอบด้วย นายวงศพัทธ์ กุลกิจกำจร, นายธีรภัทร ลีฬหนันทน์, นางสาวธฤษวรรณ รัฐพิทักษ์สันติ และ นายอาทิตย์ชัย วนาไพรสณฑ์

Chat.pLearn ผ่านการประกวดผู้ประกอบการ Startup โดยคว้ารางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 เวที SCG Bangkok Business Challenge ของสถาบันศศินทร์ และเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายเวที Entrepreneurship World Cup Thailand 2022 by Gen Thailand