นักช้อป Gen Z กำลังสำคัญ ขับเคลื่อนซื้อขายออนไลน์ในไทย

09 พ.ค. 2566 | 16:14 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2566 | 16:32 น.

Facebook ประเทศไทย จาก Meta เปิดข้อมูลเชิงลึกบทบาทสำคัญกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ในการสร้างคำนิยามครั้งใหม่และพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้มีความหลากหลายขึ้น พร้อมวิธีการที่แบรนด์และธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงผู้บริโภคชาวไทย สามารถใช้แพลตฟอร์มและโซลูชันการช้อปปิ้งในเครือ Meta

ในปัจจุบัน มีผู้คนจำนวนกว่า 3.8 พันล้านคนทั่วโลกที่ใช้งานแอปในเครือของ Meta ในแต่ละเดือน สำหรับในประเทศไทย  ผลสำรวจล่าสุดเผยว่า ในแต่ละเดือน 91% ของกลุ่มผู้บริโภควัย Gen Z ใช้งาน Facebook เพื่อรับข้อมูลข่าวสารและดูเนื้อหาสื่อต่าง ๆ ส่วน 85% ของ Gen Z มีการรับชมเนื้อหาต่าง ๆ ผ่าน Messenger และ 83% ใช้งานผ่านทาง Instagram

นักช้อป Gen Z กำลังสำคัญ ขับเคลื่อนซื้อขายออนไลน์ในไทย

ทำให้ Meta เป็นแหล่งที่มาของการเชื่อมต่อบนโลกโซเชียล ธุรกิจการค้า และการค้นพบที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับชาวไทยที่กำลังมองหาการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่มีความหมาย เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และสะดวกสบายอย่างต่อเนื่อง

การขับเคลื่อนการเติบโตของวัฒนธรรมและการซื้อขายโดย Gen Z

นอกจากการขับเคลื่อนการเชื่อมต่อบนโซเชียลมีเดียแล้ว กลุ่มผู้บริโภค Gen Z ยังมีบทบาทสำคัญในการยกระดับภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และพัฒนาประสบการณ์ช้อปปิ้งในอนาคต จากผลการศึกษา “2023 Culture Rising” ของ Meta Foresight ที่วิเคราะห์ความชื่นชอบและความคาดหวังของกลุ่มนักช้อปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (กลุ่ม Gen Z และมิลเลนเนียล) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำระดับโลกในการรับเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งรวมถึงนักช้อปชาวไทย พบว่าพวกเขาคาดหวังให้แบรนด์ให้บริการเปรียบเสมือนกับเป็น “เพื่อนสนิท” (best friends) ของเขาในขณะช้อปปิ้ง ซึ่งหมายถึงความคาดหวังที่ต้องการให้แบรนด์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมของตนเอง และสื่อสารในรูปแบบที่พวกเขาชอบ รวมถึงมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน

นอกจากนี้ ผู้คนยังต้องการให้ “แบรนด์ที่เป็นเพื่อนสนิท” ของพวกเขานำเสนอบริการพิเศษเพิ่มเติม ด้วยการสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่เสมือนจริง ไร้รอยต่อ และตอบสนองความต้องการเฉพาะตัว นอกจากนี้ 69% ยังกล่าวว่าพวกเขาต้องการให้แบรนด์มีความพร้อมและสามารถติดต่อสื่อสารกับพวกเขาได้ทุกเวลาในโลกเสมือนจริง โดยหัวข้อการสนทนากับแบรนด์ที่มีความหลากหลายมากขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่คาดหวังให้แบรนด์ใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อการติดต่อสื่อสาร เช่น ระบบการส่งข้อความแบบทันทีบน Instagram (เพิ่มขึ้น 165%) และแชทบอทบน Facebook (เพิ่มขึ้น 189%)

ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาบริการหลักให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาขั้นตอนการทำงานที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจและขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพให้กับแบรนด์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกับสิ่งที่พวกเขารักได้ง่ายขึ้น และเปิดโอกาสในการเกิดรูปแบบการค้าขายแบบใหม่ ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภค Gen Z ยังคงมองหาวิธีการใหม่ ๆ ในการช้อปปิ้งอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ยังถือเป็นการสร้างมาตรฐานครั้งใหม่ให้กับประสบการณ์การช้อปปิ้งและเส้นทางการซื้อสินค้าแบบไฮบริดหรือ omni-channel ที่ผสานเข้ากับความบันเทิง การแสดงออกถึงตัวตน และชุมชน

นักช้อป Gen Z กำลังสำคัญ ขับเคลื่อนซื้อขายออนไลน์ในไทย

นางสาวแพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์ที่น่าจดจำสำหรับผู้บริโภคว่า “การเชื่อมต่อและการค้นพบเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้แอปในเครือของเรามีความเป็นเอกลักษณ์และสร้างคุณค่าให้กับชุมชนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค Gen Z โดยโซลูชันด้านการซื้อขายและช้อปปิ้งของเราช่วยขับเคลื่อนการเชื่อมต่อกับผู้คน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดหรืออยู่ในขั้นตอนใดของการเส้นทางการซื้อสินค้าก็ตาม เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถค้นพบและมีโอกาสซื้อสินค้าที่มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะชื่นชอบได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น”

พบผู้บริโภคในที่ที่พวกเขาอยู่”: ความสำคัญของการช้อปปิ้งแบบไฮบริด

จากการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประสบการณ์การช้อปปิ้งมากขึ้น กลุ่มนักช้อป Gen Z แสวงหาการช้อปปิ้งแบบออฟไลน์หรือในร้านค้า ควบคู่ไปกับการต้องการความสะดวกสบายจากการซื้อขายบนโลกดิจิทัล โดยมีพฤติกรรมการช้อปปิ้งแบบ “ไฮบริด” ที่ต้องการทัชพอยต์ที่หลากหลาย ทั้งในช่องทางออนไลน์ ในร้านค้า และบนสมาร์ทโฟน

Meta ยังได้แชร์ว่า 46% ของการตัดสินใจซื้อสินค้าในขั้นตอนสุดท้ายของ Gen Z มักจะเกิดขึ้นภายในร้านค้า ในขณะที่ช่องทางออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการค้นพบและความต้องการต่อสินค้า โดย 88% จะหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่พวกเขาสนใจบนโลกออนไลน์ก่อนที่จะเดินทางไปที่หน้าร้าน และ 80% ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการค้นหาข้อมูลสินค้า ในขณะที่พวกเขากำลังเดินเลือกซื้อสินค้าอยู่ในร้านค้า

Meta ยังได้กล่าวย้ำว่าธุรกิจไทยควรเพิ่มโอกาสในการค้นพบสำหรับ Gen Z ผ่านประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AR และวิดีโอในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอในสตรีมหรือ Reels และสร้างประสบการณ์ซื้อขายที่น่าดึงดูดแต่ไร้การสัมผัสที่ยังคงสามารถรักษาความภักดีต่อแบรนด์เอาไว้

นักช้อป Gen Z กำลังสำคัญ ขับเคลื่อนซื้อขายออนไลน์ในไทย

เปลี่ยนการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนเป็นการค้าที่สร้างแรงบันดาลใจ

เมื่อผู้บริโภคชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Gen Z หันมาพึ่งพาช่องทางดิจิทัลในการช้อปมากขึ้น อัตราการโต้ตอบทางออนไลน์ระหว่างพวกเขากับธุรกิจร้านค้าก็มากขึ้นตามไปด้วย โซเชียลมีเดียจึงมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการช้อปของผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดย 71% ของคน Gen Z ใช้ Facebook เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจและผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ 59% ใช้งาน Facebook เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และเลือกซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม

ข้อมูลเชิงลึกยังเน้นย้ำว่าธุรกิจไทยควรเลือกใช้ช่องทางที่กลุ่มลูกค้าอยู่ (Facebook, Instagram และ Messenger) เพื่อเชื่อมต่อและสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับคนในกลุ่ม Gen Z และต้องทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคกลุ่มนี้เพื่อสร้างความภักดีต่อแบรนด์อีกด้วย

นอกจากนี้ คนในกลุ่ม Gen Z ยังคาดหวังว่าประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดียของพวกเขา จะมีความเฉพาะตัวและสะดวกสบายอีกด้วย โดย 70% ต้องการการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของตน ซึ่งรวมไปถึงการโฆษณาแบบ Targeted Advertising ในขณะที่ 67% ของคนกลุ่มนี้ พร้อมที่จะเปิดรับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หากแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีค่านิยมสอดคล้องกับความเชื่อของพวกเขา ซึ่งธุรกิจต่าง ๆ สามารถสร้างผลลัพธ์สูงสุดในการปรับโฆษณาแบบเฉพาะตัวและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้ ผ่านการกำหนดเป้าหมายโฆษณาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ หัวข้อที่กำลังมาแรง สภาพอากาศ หรือความสนใจต่าง ๆ ได้อย่างเฉพาะเจาะจง

การสื่อสารและประสบการณ์ส่วนตัวยังเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อพฤติกรรมการช้อปปิ้ง โดย 87% ของคนไทยในกลุ่ม Gen Z เลือกที่จะติดต่อกับธุรกิจผ่านแอปส่งข้อความ และ 86% ต้องการโต้ตอบกับธุรกิจผ่านทางโซเชียลมีเดีย พฤติกรรมดังกล่าวยังขยายไปถึงการเชื่อมต่อทางสังคมในภาพกว้าง รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจครีเอเตอร์ หรือ Creator Economy ซึ่งกว่า 84% ของคน Gen Z เลือกแบ่งปันประสบการณ์การช้อปของตัวเองบนโซเชียลมีเดีย ในขณะที่ 64% ต้องการที่จะเลือกซื้อสินค้าผ่านครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์โดยตรง

Meta ยังได้แชร์วิธีที่แพลตฟอร์มดิจิทัลชั้นนำด้านเสื้อผ้าแฟชั่นอย่าง Pomelo ขับเคลื่อนกิจกรรมการตลาด ผ่านการทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าในกลุ่ม Gen Z ระหว่างช่วงแคมเปญมหกรรมลดราคาในวันเลขเบิ้ล หรือ Double-Day Sales ด้วยการสร้างแคมเปญการตลาดผ่านเกมด้วยเทคโนโลยี AR ที่ชื่อว่า “Snatch & Win” ซึ่ง Pomelo พบว่ามีอัตราการจดจำโฆษณาเพิ่มสูงขึ้นถึง 14.1 จุด ความชื่นชอบต่อแบรนด์เพิ่มขึ้น 7.6 จุด และความตั้งใจในการร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้น 5.7 จุด เป็นผลมาจากการใช้เครื่องมือสนับสนุนการค้าของ Meta ที่ช่วยดึงคนเข้ามาร่วมเล่นเกม AR และเก็บโค้ดโปรโมชั่นที่สามารถแลกใช้ได้ทันที

นางสาวแพร กล่าวสรุปว่า “เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจของวิธีการที่ผู้คนสัมผัสประสบการณ์และโต้ตอบกับแบรนด์ทางออนไลน์ ประกอบกับบทบาทที่สำคัญของกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ที่สร้างนิยามใหม่ให้กับการซื้อขายในอนาคต ความต้องการในการค้นหาแรงบันดาลใจและสิ่งที่พวกเขาหลงใหล การแสดงออกถึงตัวตนอย่างตรงไปตรงมา และการมีส่วนร่วมใน “กลุ่ม” หรือคอมมูนิตี้ของพวกเขา สอดคล้องกับจุดแข็งของแอปในเครือ Meta ได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะในฐานะแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจและการค้นพบใหม่ ๆ หรือการเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้สามารถเข้าถึง เชื่อมต่อ และสร้างความสัมพันธ์กับทั้งธุรกิจและแบรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้งและง่ายดายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อการแข่งขันทางการค้ามีความท้าทายและซับซ้อนมากขึ้นกว่าเคย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่แบรนด์และธุรกิจต่าง ๆ จะมุ่งเน้นในการสร้างประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมและไร้รอยต่อผ่านทุกช่องทาง รวมถึงการสร้างสะพานเชื่อมโลกช้อปปิ้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกัน โดยทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z มีการค้นพบสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้อย่างง่าย สะดวกและด้วยวิธีการที่สนุกสนานในแบบที่พวกเขาชื่นชอบ”