ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรเป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2565 เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างตุลาคม - ธันวาคม เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านประชากรและสังคมของผู้ย้ายถิ่น สำหรับนำไปใช้ในการติดตามสถานการณ์การย้ายถิ่นของประชากร
ซึ่งผลการสำรวจที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
1. จำนวนผู้ย้ายถิ่นและอัตราการย้ายถิ่น ผลการสำรวจในปี 2565 พบว่า ผู้ย้ายถิ่นมีจำนวน 8.09 แสนคน คิดเป็นอัตราการย้ายถิ่น 1.2 ของประชากรทั้งประเทศ (69.91 ล้านคน) ภาคกลางมีจำนวนผู้ย้ายถิ่นมากที่สุด 3.45 แสนคน (คิดเป็นร้อยละ 42.6 ของจำนวนผู้ย้ายถิ่นทั้งหมด) และกรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ย้ายถิ่นน้อยที่สุด 0.55 แสนคน (ร้อยละ 6.8)
2. การมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ผู้ย้ายถิ่นร้อยละ 68.4 มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งอยู่ที่อื่น (ซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ 41.2 อยู่ในจังหวัดอื่น และร้อยละ 27.2 อยู่ในจังหวัดที่อยู่ปัจจุบัน) ส่วนผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ร้อยละ 22.7 นอกนั้นเป็นผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านในประเทศอื่น (ร้อยละ 8.8) และผู้ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ร้อยละ 0.1
3. สาเหตุของการย้ายถิ่น พบว่า ผู้ย้ายถิ่นที่ย้ายถิ่นด้วยสาเหตุด้านการงาน เช่น หางานทำ หน้าที่การงาน หรือต้องการเปลี่ยนงาน มีจำนวนมากที่สุด 2.81 แสนคน (ร้อยละ 34.8) รองลงมา คือ ด้านครอบครัว เช่น ติดตามคนในครอบครัว และทำกิจการครอบครัวจำนวน 1.67 แสนคน (ร้อยละ 20.7) และด้านอื่น ๆ เช่น ย้ายที่อยู่อาศัย กลับภูมิลำเนา และศึกษาต่อ เป็นต้น จำนวน 3.60 แสนคน (ร้อยละ 44.5) ตามลำดับ
4. ประเภทและรูปแบบการย้ายถิ่น สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท ผู้ย้ายถิ่นภายในภาคเดียวกัน (จำนวน 5.18 แสนคน) ซึ่งมากกว่าผู้ย้ายถิ่นระหว่างภาค (จำนวน 2.44 แสนคน) และผู้ย้ายถิ่นมาจากต่างประเทศ (จำนวน 0.47 แสนคน)
5. การย้ายถิ่นสุทธิ จากการสำรวจ พบว่า อัตราการย้ายถิ่นสุทธิของภาคเหนือ และภาคกลาง มีผลเป็นบวก (0.13 และ 0.06 ตามลำดับ) คือ มีผู้ย้ายถิ่นเข้ามากกว่าผู้ย้ายถิ่นออก ส่วนกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีทิศทางตรงกันข้าม คือ มีอัตราการย้ายถิ่นสุทธิผลเป็นลบ (-0.20 -0.14 และ 0.09 ตามลำดับ) คือ มีผู้ย้ายถิ่นเข้าน้อยกว่าผู้ย้ายถิ่นออก