3 เจ้าโดดชิงวงโคจรดาวเทียม กสทช. ใครเป็นใครอ่านรายละเอียดที่นี่

07 ม.ค. 2566 | 17:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2566 | 00:34 น.
1.8 k

3 เจ้าโดดชิงวงโคจรดาวเทียม กสทช. ใครเป็นใครอ่านรายละเอียดทั้งหมดที่นี่ ลุ้นวันจันทร์ 9 มกราคม 2566 ประกาศคุณสมบัติผ่านร่วมประมูล

วันนี้ 7 มกราคม 2566  ความคืบหน้าประมูลวงโคจรดาวเทียม กสทช. ในวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566 เวลา 13.30 น. สำนักงาน กสทช. โดย กสทช. พลอากาศโท ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ  เตรียมกำหนดจัดแถลงข่าวการรับรองผลผู้ผ่านการตรวจคุณสมบัติและวิธีการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package)

 

ภายหลังจากสำนักงาน กสทช. ปิดรับการยื่นขอความประสงค์เพื่อประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) แล้ว ปรากฎว่ามีผู้มายื่นเอกสารการประมูล จำนวน 3 ราย ไปแล้วก่อนหน้านี้

เอกชนที่ร่วมชิงวงโคจรดาวเทียมทั้ง 3 รายใครเป็นใครอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

  • บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด  บริษัทในเครือ บมจ.ไทยคม โดย บริษัท กัลฟ์ เวนเซอร์ส จำกัด  บริษัทย่อย กัลฟ์  เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF  ถือหุ้น 100%   กำลังทำคำเสนอซื้อหุ้นในบริษัท  ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM  จาก บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH อีกจำนวน 58.87% เป็นจำนวนทั้งสิ้น 645,231,020 หุ้น ในราคา 9.921 บาทต่อหุ้น โดยคิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 6,400.69 ล้านบาท

 

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT  

  • เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ก่อนหน้านี้มอบสิทธิให้ NT หลัง THCOM สิ้นสุดสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และ ไทยคม 6  

 

บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

  • เมื่อพลิกข้อมูลนิติบุคคลของบริษัทแล้วพบ ว่า จดทะเบียนตั้งแต่ ม.ค. 2543 ด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท
  • รายชื่อกรรมการดังนี้ นายสมบัติ แสงชาติ อดีตนักกอล์ฟชื่อดัง และ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอล ทีมชาติไทยอายุไม่เกิน 19 ปี ประกอบธุรกิจรับจ้างติดตั้งระบบสื่อสารข้อมูล เป็นรายเดียวที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำธุรกิจดาวเทียมมาก่อน

วงโคจรดาวเทียมที่ กสทช. นำออกมาประมูลประกอบไปด้วย 5 ชุด ได้แก่

 

 

กสทช.ประมูลวงโคจรดาวเทียม

  • ชุดที่ 1  วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51)  เป็นวงโคจรที่พร้อมใช้งาน ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาทเศษ
  • ชุดที่ 2  วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) มีความน่าสนใจตรงที่เป็นวงโคจรที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำตลาดในเมืองไทย ราคาเริ่มต้น 360 ล้านบาทเศษ
  • ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ราคาเริ่มต้น 397 ล้านบาทเศษ 
  • ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้น 8 ล้านบาทเศษ
  • ชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5)  ราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาทเศษ โคจรอยู่แถบแปซิฟิก  ดังนั้น บริการที่สามารถให้บริการได้จะเป็นบริการดาวเทียมสำหรับเรือ.