NT โดดร่วมประมูลใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม

29 ธ.ค. 2565 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2565 | 02:00 น.

NT ประกาศร่วมขอรับอนุญาตใช้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามภารกิจในฐานะหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้วงโคจรของไทยใช้ประโยชน์เต็มขีดความสามารถ

29 ธันวาคม 2565 ​​นายสรพงษ์ ศิริพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานดาวเทียมและโครงข่าย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดเผยเกี่ยวกับการเข้าร่วมขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ของ NT ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้ออกประกาศแจ้งหลักเกณฑ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565

 

NT ได้เข้าร่วมขอรับสิทธิดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างนโยบายการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติเสนอกรอบนโยบายในการจัดสร้างหรือการบริหารจัดการดาวเทียม และการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมของรัฐเพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานของรัฐ ​

ดังนั้น NT ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจด้านการให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ โดยเฉพาะการพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นหลัก

 

ทั้งยังมีมติให้ NT เข้ายื่นแบบคำขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) และวางหลักประกันการขอรับอนุญาตฯ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. กำหนด โดยดำเนินการจัดทำแผนและทิศทางในการดำเนินธุรกิจด้านดาวเทียมที่มุ่งเป้าเพื่อให้ NT มีความสามารถที่จะควบคุมและบริหารจัดการดาวเทียมให้สอดคล้องกับนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ 

NT ตระหนักดีถึงความสำคัญของการพัฒนากิจการด้านดาวเทียมสื่อสารของประเทศ  ซึ่งจากพื้นฐานและประสบการณ์ในการให้บริการเกี่ยวกับระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมมาโดยตลอดก็จะมุ่งดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย ประชาชน

 

รวมทั้งการใช้วงโคจรนี้ให้เกิดประโยชน์แก่ภาพรวมในการเชื่อมโยงร่วมกับประเทศอย่างเต็มที่ในมิติต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารความมั่นคง ตลอดจนการพัฒนาในเชิงธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข ฯลฯ เพราะจะเท่ากับเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ ไปพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมดาวเทียมของประเทศในที่สุด