“หมอวรงค์” นำเครือข่ายบุก “กสทช.” ยื่นหนังสือหยุดประมูลดาวเทียม

28 ธ.ค. 2565 | 10:58 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2565 | 19:06 น.
588

“หมอวรงค์” นำภาคีเครือข่ายบุก “กสทช.” ยื่นหนังสือหยุดประมูลวงโคจรดาวเทียมสมบัติชาติประเคนให้กลุ่มนายทุน

วันนี้ 28 ธันวาคม 2565 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ร่วมกับ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยื่นหนังสือถึง กสทช. เรียกร้องให้รัฐเข้าบริหารจัดการดาวเทียมเอง หยุดประมูลวงโคจรดาวเทียมสมบัติชาติให้นายทุน โดยมี นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. ทำหน้าที่รับมอบหนังสือ

 

นพ.วรงค์ กล่าวถึงเหตุผลที่ยื่นหนังสือหยุดประมูลวงโคจรดาวเทียม เนื่องจากว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560  มาตรา 56 วรรคสอง ได้เขียนบทบัญญัติว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้” ประกอบกับมาตรา 60 วรรคหนึ่ง “รัฐจะต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน”

“วงโคจรดาวเทียมสมบัติของรัฐของชาติและของแผ่นดิน แต่การที่ กสทช.เปิดประมูลโชคดีประเทศไทยมีสิทธิวงโคจรดาวเทียม 7 วงโคจร และ กสทช.จะเอาวงโคจรดาวเทียมทั้ง 7 วงโคจรจัดหมวดหมู่เป็น 5 แพ็กเกจ บางแพ็กเกจที่นำวงโคจรออกมาประมูลสำคัญอันดับต้น ๆ ของโลกทำรายได้มหาศาลแล้วสิทธิวงโคจรดาวเทียม คือ เรื่องความมั่นคง Space War Fair  สงครามสู้รบ รัสเซีย กับ ยูเครน  นำโดรนมาใช้เชื่อมต่อดาวเทียม ในการทำสงคราม การเปิดประมูลดาวเทียมแบบใบอนุญาตเท่ากับยกสมบัติทั้งหมดให้เอกชน เราไม่ต้องการให้ กสทช.เอาสมบัติของชาติประเคนให้นายทุน แต่เราไม่ปฏิเสธรัฐบาลทำเอง  แต่ในช่องสัญญาณ หรือ ทรานสปอนเดอร์ต่าง ให้เอกชนมาดำเนินการเรายอมรับได้ หากยกวงโคจรดาวเทียมให้ทั้งหมดเกิดอะไรขึ้นเราไม่รู้เรื่อง ดังนั้นยกวงโคจรดาวเทียมให้ทั้งหมดไม่ได้ทำความเสียหายให้ประเทศ”

 

ขณะที่ตัวแทนสหภาพแรงงาน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดเผยว่า จุดยืนของ NT ต้องการนำวงโคจรดาวเทียมมาดำเนินการเอง เพราะโครงสร้างธุรกิจหลังจากการควบรวม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท โครงสร้างธุรกิจทั้งหมด มี 16 สายงาน และ หนึ่งในสายงาน คือ สายงานดาวเทียม ซึ่งมีความพร้อมบริหารจัดการด้านดาวเทียมได้เป็นอย่างดี

 

 

ดาวเทียม

ชุดข่ายงานดาวเทียมที่นำมาประมูลฯ ทั้งสิ้น 5 ชุด(Package) ประกอบด้วย

  • ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นการประมูล 374 ล้านบาท
  • ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาเริ่มดันการประมูล 360 ล้านบาท
  • ชุดที่ 3 ประกอบตัวย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 397 ล้านบาท
  • ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มดันการประมูล 8 ลำนบาทเศษ
  • และชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ 142E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 189 ล้านบาทเศ

 

เอกชนขอรับอนุญาต จำนวน 3 ราย ยื่นขอใบอนุญาติ

  • บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด
  • บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

สำนักงาน กสทช. จะตรวจสอบคุณสมบัติตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 – 5 มกราคม 2566 และ จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านและมีสิทธิเข้าร่วมการประมูล โดยจะเสนอให้ที่ประชุม กสทช. รับรองผลในวันที่ 9 มกราคม 2566 และหากมีผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลมากกว่า 1 ราย โดยไม่มีผู้ใดยื่นอุทธรณ์ สำนักงาน กสทช. จะทำการ Mock Auction ในวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 และทำการประมูลสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566 ซึ่งเลื่อนจากกำหนดการเดิมไป 1 สัปดาห์ เนื่องจากต้องเปิดโอกาสให้สิทธิในการอุทธรณ์ หลังสำนักงาน กสทช. ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ ประสบการณ์และความสามารถทางด้านการเงิน เป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง