จากกรณีที่เฟซบุ๊ก ปรับอัลกอริทึม หรือ ปรับการมองเห็นใหม่จากเดิมที่จะเน้นการมองเห็นโพสต์จากบัญชีที่มีการติดเป็นหลัก โดยหน้าฟีดหลักจะเปลียนไปใช้การแสดงผลโพสต์ที่ได้รับการแนะนำมากขึ้น โดยไม่ต้องสนใจว่าจะมาจากส่วนใดนั้น ต่อเรื่องดังกล่าว ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษกิจ” ว่า ถือว่าเป็นช่วงรอยต่อและแรงกระเพื่อมโลกโซเชียลอีกครั้ง เป็นการ ดิสรัปชั่นของโซเชียลมีเดียที่มีอายุการใช้งานมากกว่าหนึ่งทศวรรษ เป็นวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงของมีเดียต่าง ๆ ที่กำลังก้าวสู่อินเตอร์เน็ต 4.0 เทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงอุปกรณ์ได้หลาย ๆ ชนิด ดังนั้นการปรับอัลกอริทึมครั้งนี้เป็นการดิสรัปชั่นบนโลกเทคโนโลยีทั้งระนาบ ส่งผลให้โซเชียลมีเดียเกิดการชะงักงันถดถอย ดังจะเห็นได้จากบริษัทรุ่งเรื่องในอดีตประสบปัญหาเศรษฐกิจมีการปรับลดพนักงาน เช่น แอมะซอน , กูเกิล และ เฟซบุ๊ก ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจทั้งหมด
กรณีของเฟซบุ๊ก ประกาศปรับโครงสร้างเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta พร้อมประกาศทิศทางของบริษัท ว่าต่อไปนี้จะมุ่งพัฒนา Metaverse เข้าสู่ในยุคที่เห็นเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี จากโลกในชีวิตจริงสู่โซเชียลมีเดีย เพื่อก้าวสู่ Metaverse หรือ “โลกเสมือนจริง” มีการวิเคราะห์กัน ว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจเหมือนทางสองแพร่ง เพราะ เฟซบุ๊ก ต้องตัดสินใจจะไปทาง Metaverse หรือ เลือกทางโซเชียลมีเดีย
“การปรับอัลกอริทึม เป็นการก้าวกระโดดส่งผลให้เทคโนโลยีไม่เสถียรสำหรับการแสดงผลของการลงโฆษณา ทางคอนเท้นต์ และการเข้าถึงเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด”
นอกจากนี้ ดร.สิขเรศ ยังกล่าวอีกว่า ระหว่างนี้ถือว่าเป็นช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง พร้อมยกตัวอย่างในอดีตจากทีวีระบบอนาล็อกเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิทัล เหมือนจากสื่อสิ่งพิมพ์มาสู่ออนไลน์ เป็นช่วงที่เคยผันผวนมาแล้วครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับในครั้งนี้จากโซเชียลมีเดีย กำลังก้าวเข้าสู่ยุค AI ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจต้องชั่งน้ำหนักการลงทุนเพราะเป็นช่วงนวัตกรรมที่เกิดการเปลี่ยนผ่านและผันผวนอีกครั้งหนึ่ง
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นายสืบศักดิ์ สืบภักดี อาจารย์และนักวิชาการด้านโทรคมนาคม แสดงความเห็นเพิ่มเติม ว่า เฟซบุ๊ก ได้ปรับอัลกอริทึมอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าข้อมูลมาจากความต้องการและการสำรวจของตลาด แต่ปรากฏว่าเมื่อปรับอัลกอริทึมแต่ละครั้งผู้ขายทั่วไปกลับได้รับผลกระทบรวมถึงคนที่เป็นเจ้าของเพจ หรือ ผู้ใช้งานที่โดนลดการมองเห็น ดังนั้นโดยส่วนตัวเห็นว่าในเมื่อ เฟซบุ๊ก เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ ที่มีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก และ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น meta หมายความว่ากำลังปรับตัวเพื่อรองรับพฤติกรรม และ รูปแบบการใช้บริการแบบใหม่ อาทิ Metaverse ที่หมายมั่นปั้นมือจะเป็นสื่อใหม่ ดังนั้นการปรับตัวเชื่อว่ายังมีอีกหลายระลอก.