ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้อง หลังสภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นคำร้อง ให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค พร้อมนำรายชื่อผู้บริโภคจำนวน 2,022 ราย ที่ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนการฟ้องคดีดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองด้วย
กรณีที่ผู้บริโภคได้ยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ โดยต้องรอให้ทรูและดีแทคเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าวก่อนจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากมองว่าทั้ง 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจได้รับผลกระทบจากการพิพากษาคดี ดังนั้น จำเป็นต้องให้ทั้ง 2 บริษัท ได้มีโอกาสชี้แจงโต้แย้งข้อเท็จจริงต่อศาล จึงมีคำสั่งเรียกทรูและดีแทคเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดด้วย
สาเหตุที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนมติดังกล่าวนั้น เนื่องจากมติของ กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งในด้านเนื้อหาและกระบวนการ
เนื่องจากเพราะก่อนมีการลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อนกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ ทั้งที่มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีจำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมายเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด และก่อนการลงมติคณะกรรมการ กสทช. ยังไม่ได้ดำเนินการรับฟังรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศที่ทางสำนักงานฯ ได้ว่าจ้าง
ในการลงมติฯ ประธานได้ออกเสียงชี้ขาดขัดต่อระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555
ส่วนเนื้อหาของมติดังกล่าวก็มิชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน โดยขัดต่อข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่ระบุถึงอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ไว้อย่างชัดแจ้ง โดยในการลงมติจะต้องเป็นการอนุญาต หรือไม่อนุญาตเท่านั้น